มารู้จัก “เทศกาลสาดสี” Holi Festival เทศกาลแห่งสีสัน

08 มี.ค. 2566 | 22:43 น.

มารู้จัก “เทศกาลสาดสี” Holi Festival (เทศกาลโฮลี) เทศกาลแห่งสีสัน สะท้อนความเชื่อศาสนา ที่มาของวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงไต้ ที่ไม่ใช่แค่ความสนุกสนาน

เทศกาลที่เห็นชาวอินเดียออกมาสาดผงสีต่างๆใส่กันอย่างสนุกสนานนั้น มีชื่อเรียกว่า “เทศกาลโฮลี” หรือ Holi Festival ซึ่งคนไทยอาจเรียกว่า “เทศกาลสาดสี” แท้ที่จริงแล้ว เทศกาลนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง และยังมีที่มาที่สะท้อนถึงประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนา ที่คู่ควรกับการทำความรู้จัก “เทศกาลโฮลี” หรือ “เทศกาลสาดสี” ให้มากยิ่งขึ้น

ที่มาของชื่อ ““เทศกาลโฮลี” หรือ “Holi Festival”

Holi (โฮลี) หมายถึง การส่งท้ายปีเก่า เป็นเทศกาลฉลองรื่นเริงที่มีพื้นเพมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดู โดยจะจัดขึ้น 2 วันในช่วงเดือนมีนาคม (แรม 1 ค่ำ เดือน 4) ผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองด้วยการสาดสี หรือป้ายสี ซึ่งเป็นฝุ่นผงใส่กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพื้นเพที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมา และปรับเปลี่ยนเป็นการสาดน้ำใส่กันแทน คือ สงกรานต์

การสาดสีจะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น จากนั้น ผู้คนก็จะแยกย้ายไปพักผ่อน เมื่อตกเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน แจกขนมหวาน โดยขนมที่ทำเพื่อรับประทานในเทศกาลนี้ ทำมาจากนมและนมเปรี้ยวเป็นหลัก เชื่อกันว่าหากได้รับประทานขนมด้วยจิตใจเบิกบาน จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการเริ่มต้นปีใหม่ 

และผู้คนจะสวมกอดกันเพื่อแสดงออกซึ่งมิตรภาพต่อกัน เทศกาลโฮลี่จึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน ผู้ที่เคยขัดแย้งกันก็จะได้ปรับความเข้าใจกัน ฉะนั้น ผู้คนจึงมักสวมชุดสีขาวออกไปเล่นสาดสี และเก็บชุดดังกล่าวไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ ที่ไม่มีวันลบเลือน

“เทศกาลโฮลี”  Holi Festival  เทศกาลสาดสี

ฝุ่นสีที่ใช้ ใน “เทศกาลโฮลี” 

ในอดีตผงสีที่ใช้สาดใส่กันในเทศกาลโฮลีนั้น ทำมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น อันเป็นนัยที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ โดยในปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นใช้แป้งที่ใช้ทำอาหาร ผสมกับสีผสมอาหาร

พิธีบูชาใน “เทศกาลโฮลี”

ในช่วงเย็นของวันแรกในเทศกาลโฮลี จะมีการจัดซุ้มกองไฟเพื่อทำพิธีบูชาเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และมีลูกชาย ตามความเชื่อเพื่อเป็นการสร้างสิริมงคล และปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปจากลูกชาย ส่วนคู่แต่งงานที่ปรารถนาลูกชาย ก็มักทำพิธีบูชาขอลูกชายในเทศกาลนี้ด้วย

ความเชื่อทางศาสนา ใน“เทศกาลโฮลี”

เจ้าแห่งอสูรนามว่า หิรัณยกศิป ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ เจ้าอสูรต้องการให้ทุกคนบูชาตนเองเท่านั้น แต่ลูกชายของอสูร ชื่อ ประหลาด (Prahlad) กลับบูชาแต่พระวิษณุ หิรัณยกศิป จึงออกอุบายฆ่าลูกชายตนเอง โดยการหลอกให้เข้ากองไฟพร้อมน้องสาวของตนที่ชื่อ โหลิกา ซึ่งได้รับพรพิเศษว่าไฟไม่สามารถทำร้ายเธอได้

ปรากฏว่าเมื่ออยู่ในกองไฟ โหลิกากลับถูกเผาไหม้ โดยประหลาดกลับไม่เป็นอะไรเลย เพราะการยึดมั่นบูชาถึงพระวิษณุ โหลิกานั้น ทำผิดเงื่อนไขที่ว่ากองไฟคนเดียว ทำให้ใน คืนก่อนวันโฮลี ตามชุมชนอาจมีการรวมกลุ่มกัน จัดพิธีเผานางโหลิกา เป็นพิธีเชิงสัญลักษณ์ว่า การทำร้ายเบียดเบียนกันในสังคม และความชั่วร้ายต่างๆ จะถูกเผาทำลายไป ธรรมะย่อมชนะอธรรม 

ส่วนการสาดสีนั้น ตามศาสนามีเรื่องเล่าถึง สาเหตุที่พระกฤษณะ นำสีไปสาดใส่สาวคนรักชื่อ ราธา เนื่องจากตนเองมีผิวสีคล้ำ ไม่ขาวเนียนเช่นสาวคนรัก เมื่อไปถามแม่ แม่จึงบอกให้นำสีไปสาดใส่ ราธา เสีย จึงเป็นที่มาของการสาดสีใส่กันใน “เทศกาลโฮลี” 
พระกฤษณะ นางราธา