องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดเทศกาลศิลปะเพื่อไก่และคน

17 ก.พ. 2566 | 14:54 น.

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ผนึกศิลปิน-นักปฏิรูป จัดเทศกาลงานศิลปะเพื่อไก่และคน วันที่ 25 ก.พ.หอศิลปกรุงเทพฯเช็ครายละเอียดไฮไลต์กิจกรรมที่น่าสนใจที่นี่

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection- Thailand) ผนึกศิลปินและนักปฏิรูปจัดงาน “เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก” เทศกาล ศิลปะเพื่อไก่และคน ในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.00-21.00 น. ณ ลานกิจกรรมด้านหน้า หอศิลปกรุงเทพฯ  

สำหรับไฮไลต์กิจกรรมภายในงาน จะมีการแสดงศิลปะจากศิลปิน อาทิ มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย  และ นักรบ มูลมานัส ศิลปินนักปฏิรูปงานศิลป์ ที่จะร่วมโชว์ผลงานศิลปิน ประเภท Installation ที่มีชื่อว่า The last suffer , ประดิษฐ ประสาททอง และกลุ่มละครอนัตตา จะมาร่วมโชว์ผลงานศิลปะที่ชื่อว่า “เจ้าชายลอกับไก่วิปลาส” ,ครูเซียง หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา มาพร้อมผลงานที่ชื่อว่า ชีวิต A4 และ นนทวัทธ มะชัย มาพร้อมผลงานที่ใช้ชื่อว่า Kult Of Chicken
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดเทศกาลศิลปะเพื่อไก่และคน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน อาทิ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมรังสรรค์งานศิลป์ โดยให้ทุกคนร่วมติดสิ่งที่เขียน บน Installation Art ไก่ยักษ์เพื่อร่วมกันส่งเสียง คืนคุณภาพชีวิตไก่คืนจิตวิญญาณให้ไก่ คืนคุณภาพชีวิตคน ตลอดจนชมผลงานประกวดนิทรรศการภาพวาดจากเยาวชน จำนวน 20 ภาพในหัวข้อ “เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายต่อชีวิตที่มองไม่เคยเห็น ที่จะจัดแสดงต่อเนื่องไปถึงวันที่  5 มี.ค.2566

 

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง การส่งเสียงตะโกน ผ่านงานศิลปะ และผนึกพลังศิลปินในครั้งนี้ต้องการสื่อสารถึงความทุกข์ทรมานจากการเลี้ยงไก่ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างไร้มนุษยธรรม และมุ่งหวังให้ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงเร่งจัดระบบการเลี้ยงไก่ภายในฟาร์มอย่างมีสวัสดิภาพอย่างเป็นรูปธรรม 
 

อาทิ การจัดระบบพื้นที่ลดความแออัดภายในโรงเรือน การเลือกใช้สายพันธุ์ไก่โตช้า เและการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ที่เอื้อให้ไก่แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติทำให้ไก่ไม่เจ็บป่วยง่าย อันนำไปสู่การลดการใช้ยาปฏิชีวนะ เกินความจำเป็น ที่จะส่งผลกระทบกับสุขภาพสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นลูกโซ่ ที่เกิดเป็นวิกฤติ เชื้อดื้อยาทั่วโลกในขณะนี้
เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย