‘ทักษะ’ อุปสรรคใหญ่ ของการสรรหาบุคลากรร่วมทีม

12 ส.ค. 2565 | 08:06 น.

จ๊อบไทย วิเคราะห์ เหตุตลาดแรงงานทักษะ หรือแรงงานคุณภาพในช่วงโควิด-19 หาคนร่วมทีมยาก เผย ปัญหาใหญ่คือ 42.11% ของผู้สมัครงานเรียกเงินเดือนสูงกว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมี ขณะที่ทักษะของผู้สมัครงานไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในประกาศงาน 39.39%

“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) เปิดเผยว่า ปัญหาที่ HR มักจะพบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. ผู้สมัครงานไม่มาสัมภาษณ์งานโดยไม่แจ้งให้ทราบ 72.92%  
  2. ผู้สมัครงานเรียกเงินเดือนสูงกว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมี 42.11%
  3. ทักษะของผู้สมัครงานไม่ตรงหรือมีไม่มากเท่าที่ระบุไว้ในประกาศงาน 39.39%
  4. ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกแต่ไม่มาเริ่มงานตามกำหนด 33.11%
  5. ผู้สมัครงานไม่ศึกษาข้อมูลองค์กร 30.05%

 

สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. ทักษะของผู้สมัครที่ตรงกับตำแหน่งงาน
  2. คุณสมบัติของผู้สมัครที่ตรงกับประกาศงาน
  3. ประสบการณ์เดิมจากที่ทำงานเก่า
  4. ทักษะอื่น ๆ ที่ส่งเสริมกับตำแหน่งงาน
  5. ความถูกผิดของการสะกดต่างๆ ในใบสมัครงาน


สำหรับทักษะที่ HR มองหานอกจากทักษะเฉพาะทาง 5 อันดับ ได้แก่

  1. ทักษะการรับมือกับปัญหา สามารถปรับตัวเพื่อฟื้นฟูตัวเองเมื่อเจอกับปัญหาหรือความล้มเหลว (Resilience and Adaptability)
  2. ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
  3. ทักษะการคิดเชิงเหตุผลและตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
  4. ทักษะในการรับมือและจัดการกับความเครียด เมื่อเจอกับปัญหา หรือความเปลี่ยนแปลง
  5. ทักษะในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้วยตนเอง (Active Learning) 

ผลสำรวจอุปสรรคในการสรรหาบุคลากรในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศจำนวน 1,178 คน โดยองค์กรต่าง ๆ บอกว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของการสมัครงานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่การได้รับใบสมัครที่มาจากนักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้น ได้รับใบสมัครงานที่คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการ และได้รับใบสมัครงานที่มาจากผู้สมัครที่ทำการย้ายสายงานตามลำดับ 

 

รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้องค์กรมีการยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้องค์กรมีการยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ โดยสวัสดิการที่มีการยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ 1.กิจกรรมสันทนาการ เช่น งานกีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ท่องเที่ยวประจำปี 2.จัดคอร์สอบรมและพัฒนาความรู้ภายในองค์กร 3.โบนัส 4.ตรวจสุขภาพประจำปี และ 5.เงินรางวัลประจำปี /รางวัลพนักงานดีเด่น ซึ่งทั้งหมดล้วนมีส่วนทำให้เกิดการโยกย้ายงาน และลดความน่าสนใจขององค์กรในการเข้าไปร่วมงาน

 

หน้า 18  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,808 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565