Reskill - Upskill ทางรอดแรงงานไทย เร่งปรับเพราะสำคัญกว่าที่คิด

15 พ.ค. 2565 | 09:44 น.

EIC แนะ 5 แนวทางพัฒนาทักษะ Reskill - Upskill แรงงานไทย เพื่อความอยู่รอดในอนาคต พร้อมเปิดผลสำรวจ ทักษะและการทำงาน ปี 2021 แรงงานไทย 56% พัฒนาทักษะตัวเอง เผยทักษะด้านการเงิน-การลงทุน ได้รับความสนใจมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะและการทำงานปี 2021 (EIC Labor Survey 2021) พบว่าการพัฒนาทักษะ เป็นสิ่งที่แรงงานยุคใหม่ การพัฒนาทักษะ (Reskilling-Upskilling) เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคย เพราะผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนจำนวนมากสูญเสียรายได้และความมั่นคงของงาน อีกทั้ง การฟื้นตัวจากผลกระทบเหล่านั้น ก็น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วนัก ตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าและยังมีปัจจัยลบรุมเร้าต่อเนื่อง วิกฤตดังกล่าว ส่งผลรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มแรงงานทักษะน้อย-รายได้น้อย

 

นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานในอนาคตก็ยังมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งจากภาคธุรกิจที่จะจ้างงานน้อยลง รวมถึงประเภทของงานที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อแรงงานจำนวนมากที่บอบช้ำมาจากวิกฤต 
 

ทางออกสำคัญในระยะข้างหน้าสำหรับแรงงานในสภาพแวดล้อมดังกล่าว คือ การเร่งพัฒนาทักษะ ทั้งการปรับทักษะ (Reskilling) สำหรับแรงงานที่ทักษะเดิมเริ่มมีความต้องการลดลงและอาจสูญหายจากการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และการเพิ่มทักษะ (Upskilling) อันเป็นการต่อยอดทักษะเดิมให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงขึ้น การพัฒนาทักษะจะช่วยให้แรงงานไทยสามารถฟื้นตัวได้จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญและสามารถรับมือได้กับโลกยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

Reskill - Upskill ทางรอดแรงงานไทย เร่งปรับเพราะสำคัญกว่าที่คิด

EIC ยังมองว่าการพัฒนาทักษะของแรงงานไทยเป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ที่ต้องการการสนับสนุนอย่างรอบด้านและทั่วถึง ประกอบไปด้วย 5 ด้านที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ 

  • การให้ข้อมูลและคำแนะนำ 

ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับความจำเป็นของการพัฒนาทักษะในทุกสาขาอาชีพตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และการให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งความรู้ความเข้าใจในความต้องการของตนเองและปัจจัยแวดล้อมเกี่ยวกับการทำงาน จะช่วยให้แรงงานเห็นแนวทางและเป้าหมายซึ่งถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการพัฒนาตนเอง 

  • การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) 

เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ที่การพัฒนาทักษะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยควรเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้และสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย ต้นทุนต่ำ มีทางเลือกที่หลากหลาย เหมาะสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยช่องทางออนไลน์ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งถือเป็นช่องทางที่คนไทยให้ความนิยมสูงสุดจากผลสำรวจ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักที่จะช่วยตอบโจทย์ในข้อนี้ ขณะเดียวกัน การส่งเสริมการพัฒนาทักษะนั้นยังควรคำนึงถึง 

  • การสร้างประสบการณ์ที่ดี 

จากข้อมูลผลสำรวจพบว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้เรียนยังต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะที่ผ่านมา การให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเรียนรู้จึงน่าจะช่วยลดอุปสรรคไปพร้อม ๆ กับเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนให้แก่คนจำนวนไม่น้อย ผ่านการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียน 

นอกจากนี้ อีกองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาทักษะที่ประสบความสำเร็จ คือ 

  • การให้การยอมรับกับการพัฒนาทักษะของแรงงาน 

จากผลสำรวจพบว่าแรงงานมีการระบุถึงสิ่งที่ต้องการที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับ เช่น ความต้องการใบประกาศนียบัตรรับรอง ความต้องการหลักสูตรที่ออกแบบจากภาคธุรกิจหรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นต้น การได้การยอมรับจากนายจ้างและสังคมจะช่วยให้ผลลัพธ์ของการพัฒนาทักษะถูกนำไปใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งแรงงานและภาคธุรกิจ รวมถึงจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ
ในภาพรวม 

  • การสนับสนุนกลุ่มขาดโอกาส 

ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาทักษะในช่วงที่ผ่านมายังมีกลุ่มที่ขาดโอกาสอยู่ การสนับสนุนการพัฒนาทักษะในไทยอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจง แก่แรงงานที่ขาดโอกาส ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ต้องการการพัฒนาทักษะมากที่สุด เพื่อให้แรงงานไทยทุกคนรอดจากวิกฤตและปรับตัวได้ไปพร้อมกัน
 

ส่วนผลการสำรวจเกี่ยวกับทักษะและการทำงานของแรงงานปี 2021 ของ EIC (EIC Labor Survey 2021) พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจได้ทำการพัฒนาทักษะในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่มีโอกาสเท่ากัน จากข้อมูลผลสำรวจ พบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้ทำการพัฒนาทักษะในช่วงปีที่ผ่านมาไม่มากก็น้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาทักษะด้วยตนเอง โดยเหตุผลหลักในการพัฒนาทักษะคือเพื่อสนับสนุนงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ที่ได้ทำการพัฒนาทักษะมาแล้วนั้น เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเองค่อนข้างมาก 

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการพัฒนาทักษะของแรงงานแต่ละกลุ่มยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่มีสัดส่วนของคนที่ได้พัฒนาทักษะน้อยกว่าคนรายได้สูงอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนมีสัดส่วนผู้ที่ได้ทำการพัฒนาทักษะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเพียง 40% ขณะที่กลุ่มผู้รายได้มากกว่านั้นจะมีสัดส่วนดังกล่าวที่สูงกว่า โดยกลุ่มคนที่เงินเดือนมากกว่า 1 แสนบาทมีสัดส่วนผู้ได้พัฒนาทักษะสูงสุดถึง 69% 

 

นอกจากนี้ กลุ่มลูกจ้าง SMEs ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับโอกาสในการฝึกทักษะน้อยกว่ากลุ่มลูกจ้างบริษัทใหญ่หรือลูกจ้างภาครัฐอยู่มาก โดยมีเพียง 36% ของกลุ่มลูกจ้าง SMEs เท่านั้นที่ได้รับการพัฒนาทักษะผ่านคอร์สที่นายจ้างจัดให้ ขณะที่สำหรับกลุ่มลูกจ้างบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และกลุ่มลูกจ้างภาครัฐ สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่สูงถึงราว 69% ความไม่เท่าเทียมในแง่ของการได้รับการฝึกทักษะนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการสนับสนุนสำหรับกลุ่มที่ขาดโอกาส เพราะคนกลุ่มนี้ก็มักจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ได้รับผลกระทบมากในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา การขาดซึ่งโอกาสในการพัฒนาทักษะเพื่อปรับตัวจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากอยู่แล้ว

 
ในระยะข้างหน้า แรงงานไทยส่วนใหญ่มีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะ โดยทักษะด้านการเงิน-การลงทุน เป็นทักษะที่คนไทยสนใจมากที่สุด ขณะที่ช่องทางออนไลน์เป็นทางเลือกอันดับหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ข้อมูลผลสำรวจ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ถึง 87% สนใจที่จะพัฒนาทักษะของตนเองในช่วง 1 ปีข้างหน้า สำหรับทักษะที่คนไทยสนใจมากเป็นอันดับหนึ่งคือทักษะด้านการเงิน-การลงทุน ตามมาด้วยภาษาต่างประเทศ และทักษะด้านการทำธุรกิจ โดยทั้ง 3 ทั้งทักษะนี้ เป็น Top 3 ในทุกกลุ่มอายุ 

 

ส่วนทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การเขียนโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูล หรือสร้างแอปพลิเคชัน ที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากในโลกยุคใหม่นั้นได้รับความนิยมอยู่ในระดับปานกลาง 

 

ในส่วนของช่องทางการพัฒนาทักษะ ผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจพัฒนาทักษะถึง 72% เลือกช่องทางออนไลน์ (เช่น คอร์สออนไลน์ Youtube หรือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ) เป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง โดยพบว่าเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ในด้านความพร้อมในการลงทุนกับการพัฒนาทักษะนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจพัฒนาทักษะถึง 45% มองว่าการพัฒนาทักษะนั้นจะไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ซึ่งมักไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสัดส่วนคนที่พร้อมจะใช้จ่ายในระดับสูง (มากกว่า 20% ของรายได้ต่อเดือนขึ้นไป) มีไม่มากเพียง 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจพัฒนาทักษะทั้งหมด

 

ระดับความสนใจและระดับการลงทุนในการพัฒนาทักษะของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามทัศนคติต่องานและความสามารถของตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจพบว่า ทัศนคติของแรงงาน เมื่อพิจารณาจากคำถามเกี่ยวกับความเพียงพอของความสามารถตนเอง (“ทักษะของคุณเพียงพอหรือไม่?”) และความมั่นคงของงานที่ทำอยู่ (“งานของคุณจะยังอยู่หรือไม่ในอีก 5 ปี?”) มักมีความแตกต่างที่นำไปสู่ความสนใจและพฤติกรรมการพัฒนาทักษะที่ต่างกัน

 

กลุ่มคนที่กังวลว่าตนเองมีความสามารถไม่เพียงพอ และงานที่ทำอยู่ไม่มั่นคง มักมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาทักษะมากกว่า โดยจะมีสัดส่วนของคนที่สนใจที่จะพัฒนาทักษะมากกว่า ยอมจ่ายเงินในการฝึกทักษะมากกว่า และยังพร้อมที่จะใช้เวลาในการพัฒนาทักษะมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย

 

จากการวิเคราะห์ในแง่มุมดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสังเกตคือ คนที่ตอบว่า “ไม่แน่ใจ” ในความสามารถตนเองหรือความมั่นคงของงาน จะเป็นกลุ่มที่แสดงความกระตือรือร้นในการพัฒนาทักษะน้อยที่สุด ซึ่งน้อยกว่าคนที่มั่นใจในงานและทักษะของตนเองด้วยซ้ำ ความแตกต่างจุดนี้บ่งชี้ถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลและการสร้าง
การรับรู้ (awareness) เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของแรงงานแต่ละคน อันเป็นจุดตั้งต้นของแรงผลักดันให้เกิดความต้องการที่จะพัฒนาทักษะของตนเอง