แบ่งพรรคแบ่งพวก ในที่ทำงาน หนทางสู่ความพินาศขององค์กร

19 ก.พ. 2565 | 01:24 น.

องค์กรไหนมีปัญหาแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน เล่นการเมืองในที่ทำงาน ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ใช่แข่งกันสร้างผลงานที่ดีให้องค์กร แต่นั่นคือ การทำลายองค์กร ทำให้องค์กรแย่ลงเรื่อยๆ

เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ต่างฝ่ายต่างพยายามสร้างผลงานของตนเอง โดยพยายามทำให้อีกฝ่ายแย่ลง กลายเป็นการแก่งแย่งชิงดีกันในองค์กร สุดท้ายคนที่แพ้ ก็คือ องค์กร

 

Job.prtr.com ได้เขียนบทความถึงเรื่องการแบ่งพรรค แบ่งพวก และการเล่นการเมืองในที่ทำงาน โดยกล่าวถึง ผู้นำองค์กร และฝ่ายบุคคลที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของพนักงานทั้งหมด จำเป็นต้องไม่ไปเล่นพรรคเล่นพวก จะต้องคิดและปรับมุมมองให้เป็น “พวกเรา” ให้ได้

ตรวจสอบดูว่า การแบ่งพรรค แบ่งพวก ดังต่อไปนี้ มีมากน้อยแค่ไหนในองค์กรของคุณ และรีบบริหารจัดการ ทลายแก๊งต่างๆ ให้หมด ก่อนที่แก๊งเหล่านี้จะทำลายองค์กรไม่เหลือชิ้นดี 

 

1. ผู้นำที่เลือกพวกพ้อง 
ผู้นำลักษณะนี้ ไม่ควรมีอยู่ในองค์กร เพราะเขาคือหนึ่งในแหล่งที่มาของการแบ่งพรรค แบ่งพวก ยิ่งผู้นำคนนั้น มีอำนาจมากเท่าไร ก็ยิ่งสามารถตัดสินผิดเป็นถูกให้พวกของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น นี่คือหนึ่งในอุปสรรคในที่ทำงาน ที่ทำให้พนักงานดีๆ ทนอยู่ไม่ได้

2. พวกอิงคนมีอำนาจ 
กลุ่มนี่เอาเจ้านาย หรือผู้บริหารเป็นที่ยึดเหนี่ยว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ แต่เขาคือ ผู้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษกับพนักงาน คนกลุ่มนี้ไม่ว่าเจ้านายจะชอบหรือไม่ชอบ เขาก็พร้อมจะเลี้ยงคนกลุ่มนี้เช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นคนทำงานถูกใจ สนองคำสั่งได้ จะกลายเป็นดั่งลูกรัก ไม่ว่าจะทำงานดีหรือไม่ดี เจ้านายก็จะชื่นชม เพราะเขามาพร้อมสโลแกน “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกที่คอยขวาง ไม่เออออ ให้ทำดีให้ตาย ก็ไม่มีสิทธิเกิด 
 

พนักงานลูกรักมักเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะยิ่งมีคนแบบนี้ในที่ทำงานมากเท่าไหร่ การเมืองในที่ทำงานก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

3. พวกทนอยู่
 การทนอยู่ในที่ทำงานที่มีการเล่นการเมือง เพราะทุกคนย่อมมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ต้องมีงานทำ ต้องการรายได้ การตัดสินใจเดินออกไปหางานใหม่ โดยยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน ถือเป็นความเสี่ยงอย่างสูง แต่การทนอยู่ในที่ทำงานที่มีการเล่นการเมือง ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ที่จะกระเทือนถึงการทำงานที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ 

4. พวกอยู่ทน
 หากการเมืองในที่ทำงานมันเยอะ และตัวเองก็ไม่สามารถออกได้ หรือไม่อยากออก “การเล่นการเมืองให้เป็น” คือทางเลือกที่คุ้มค่า ถ้าหากจะเสียหน้าที่งานที่เป็นอนาคตของเรา มันก็ไม่คุ้ม เพราะฉะนั้น ถ้าพอมีศักยภาพในการทำงาน พร้อมๆ กับเล่นการเมืองให้เป็น เลือกพรรค เลือกฝ่าย อย่างที่คนอื่นเขาทำ ทู้ซี้กันไป หลายคนที่ทำเช่นนี้ สามารถยืนหยัดอยู่ให้เป็นในสภาพสังคมที่เลวร้ายได้ และมีเยอะมาก แต่ประสิทธิภาพงาน ก็ไม่เต็มที่เช่นกัน
 

ที่สำคัญ ผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กร จะต้องไม่เล่นพรรคเล่นพวก เพราะถ้าผู้นำมีพฤติกรรมแบบนี้เมื่อไหร่ หายนะจะบังเกิดในทันที ลูกน้องถ้ารู้ว่านายเล่นพรรคเล่นพวก ลูกน้องก็จะเล่นบ้าง ทำให้เกิดความขัดแย้งไปทั่วองค์กร พฤติกรรมที่ชัดเจนของผู้นำที่เล่นพรรคเล่นพวก ก็คือ ใครคิดเหมือนตน ถือเป็นพวกเดียวกัน ใครคิดต่าง ไม่เอาไว้ ใครมาอวยนิดอวยหน่อย รู้สึกดี ถือเป็นพวกเดียวกัน แต่ใครพูดอะไรขัดแย้งไม่เข้าหู แม้จะเป็นเรื่องจริง ก็จะไม่มีโอกาสได้เกิดอีกเลยในองค์กร
 เมื่อเป็นแบบนี้ คงเดาได้ว่า จะเกิดอะไรตามมากับองค์กร
 

ดังนั้น เพื่อให้องค์กรไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แล้วนำมาซึ่งผลเสีย ตัวผู้นำองค์กร หรือ กลุ่มผู้นำองค์กร จะต้องคิดและมี mindset ทำเพื่อภาพรวมของทุกคนในองค์กร อาจจะมีคนได้บ้างเสียบ้าง แต่การได้เสียตรงนั้น ทำให้องค์กรได้ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะถ้าองค์กรได้ แปลว่า ทุกคนในองค์กรล้วนได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียอะไร และถ้าผู้นำมีความเข้มแข็งในเรื่องนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังทุกคนในองค์กรว่า “อย่าเล่นพรรคเล่นพวก เพราะไม่มีประโยชน์”


นี่คือความท้าทายของผู้นำ และ HR แทบทุกองค์กร ที่มีความสำคัญมากกว่าระบบงานต่างๆ ที่ทำอยู่ด้วยซํ้า


หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,758 วันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565