ส่อง "กลยุทธ์การสร้างคน" ธนาคารซิตี้แบงก์

16 ธ.ค. 2564 | 04:51 น.

ส่องมุมมอง “กลยุทธ์สร้างคน” ขององค์กรข้ามชาติ กับคีย์เวิร์ดแห่งการพัฒนา “EQUALITY” หรือ “ความเท่าเทียม” ธนาคารซิตี้แบงก์ ตอบโจทย์และดึงดูดการทำงานคนยุคใหม่

นางสาวปฐมพร หันนาคินทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า หัวใจหลักในการทำงานของซิตี้แบงก์ทั่วโลกคือความ “ความเท่าเทียม” การยอมรับในความหลากหลายและการมีส่วนร่วมโดยได้กำหนดแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงนโยบาย ซึ่งพนักงานในองค์กรล้วนได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก

ปฐมพร หันนาคินทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

“ความเท่าเทียม” ที่ธนาคารซิตี้แบงก์นำมาปฏิบัติในองค์กรสะท้อนออกมาได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เพศ ตำแหน่ง 

 

  • “เพศเท่าเทียม” เพราะเชื่อความความสามารถและโอกาสไม่จำกัดที่ หญิง ชาย หรือ เพศทางเลือก   


นโยบายในการจ้างงานของซิตี้แบงก์ทั่วโลก กำหนดว่าจะต้องมีสัดส่วนผู้หญิงและผู้ชายในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะตั้งแต่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันมากที่สุด รวมถึงมีการอบรมให้กับผู้บริหารระดับสูงต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงแนวคิด และลดทอน­อคติที่อาจเกิดจากเพศสภาพที่แตกต่างกัน

 

ส่อง "กลยุทธ์การสร้างคน" ธนาคารซิตี้แบงก์

ปัจจุบันธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย มีสัดส่วนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสุด อยู่ที่ราว 56% อีกทั้งยังมีการพัฒนาบุคลากรผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งระดับกลางขึ้นไป เพื่อให้เตรียมพร้อมก้าวสู่ตำแหน่งการทำงานในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงให้ความมุ่งมั่นในการเปิดเผยข้อมูลและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านผลตอบแทนระหว่างเพศหญิงและเพศชายอีกด้วย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีความสามารถในการทำงานให้ได้รับโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานด้วยความเท่าเทียม พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานกลุ่มเหล่านี้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ กับหัวหน้าฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ

 

  • การให้ “โอกาสเท่าเทียม” กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอะไร

         

ซิตี้แบงก์มีนโยบายการรักษาพนักงานด้วยการการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้กับพนักงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงคู่รักหรือคู่สมรสของพนักงานทุกเพศโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเท่านั้น รวมถึงการลาคลอดที่อนุญาตให้พนักงานเพศหญิงยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนเพิ่มเติมจาก 90 วันเป็น 120 วัน รวมไปถึงคุณพ่อหรือคู่สมรสเพศเดียวกันสามารถลางานในกรณีดังกล่าวด้วยได้เช่นกัน รวมถึงในอนาคตก็มีแนวคิดในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานของพนักงานให้สะดวกมากขึ้นโดยการจัดรูปแบบการทำงานใหม่ตามลักษณะงานโดยให้มีการทำงานรูปแบบเดิมคืออยู่ที่ออฟฟิศทุกวัน หรือลดจำนวนวันทำงานในออฟฟิศผสมผสานกับการทำงานที่บ้าน หรือทำงานที่บ้านทุกวัน เป็นต้น

ส่อง "กลยุทธ์การสร้างคน" ธนาคารซิตี้แบงก์

 

  • สนับสนุน “กลุ่มสัมพันธ์” จำเพาะเพื่อการพัฒนา


ซิตี้แบงก์สนับสนุนให้พนักงานพัฒนากลุ่มสัมพันธ์จำเพาะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสัมพันธ์สตรี หรือกลุ่มสัมพันธ์ความหลากหลายทางเพศ โดยให้สมาชิกในกลุ่มระบุความต้องการในการพัฒนาตนเองหรือพัฒนาความรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจและตระหนักถึงข้อดีในความแตกต่างโดยมีผู้บริหารและฝ่ายทรัยพยากรบุคคลเป็นผู้ให้การสนับสนุน ซิตี้แบงก์เชื่อว่าการที่พนักงานสามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้อย่างไม่ต้องมีความกังวล จะทำให้พนักงานสามารถบรรลุถึงศักยภาพสูงสูดของตนเองได้ และมีความสุขในการทำงานที่มีเพื่อนร่วมองค์กรให้ความเข้าใจและสนับสนุนการเติบโตในหน้าที่การงานไปด้วยกัน

 

  • ไม่ว่าจะทำงานที่ใดของโลกก็จะต้องได้การ “พัฒนา..ที่เท่าเทียม”

 

ธนาคารมีนโยบายให้พนักงานทุกฝ่ายของซิตี้แบงก์สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะในด้านการทำงานระหว่างแผนกหรือข้ามสายงานได้ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการต่อยอดในด้านสายงานของพนักงานในอนาคต โดยทุกปีพนักงานซิตี้แบงก์ทุกคนจะได้แสดงความต้องการที่เกี่ยวกับด้านการทำงานหรือสายงานที่ต้องการพัฒนาหรือต่อยอดแก่หัวหน้าฝ่ายของตนเอง 

 

หัวหน้าฝ่ายหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงจะต้องมีหน้าที่หาวิธีในการส่งเสริมพนักงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากซิตี้แบงก์มีเครือข่ายการทำงานอยู่ทั่วโลก ดังนั้นจึงไม่ปิดกั้นโอกาสในการทำงานของพนักงานทุกคนให้ได้ขยับขยายการทำงานไปยังเครือข่ายของซิตี้ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยที่พนักงานไม่ต้องกังวลถึงกระบวนการทำงาน เนื่องจากซิตี้แบงก์มีหลักในการทำงานอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์ในทำงานร่วมกันสูงสุดต่อทั้งตัวพนักงาน องค์กร และลูกค้าในอนาคต

ส่อง "กลยุทธ์การสร้างคน" ธนาคารซิตี้แบงก์

  • ความสมดุลเท่าเทียมของงานกับความสุขของชีวิต

นอกจากการดูแลพนักงานให้ได้เติบโตในหน้าที่การงาน ตลอดจนการคัดสรรสวัสดิการที่สามารถตอบสนองความต้องการของพนักงานแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ซิตี้แบงก์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ ‘ด้านร่างกายและจิตใจ’ ที่ต้องแข็งแกร่งไปพร้อมกัน โดยทุก ๆ ปีซิตี้แบงก์ทั่วโลกจะมีกิจกรรม ‘วันชุมชนซิตี้’ (Citi Global Community Day) ที่ให้พนักงานและครอบครัวของพนักงานได้มาทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันด้วยการทำกิจกรรมแตกต่างกันออกไป ส่งเสริมการออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆให้พนักงานมีต้นทุนสุขภาพที่ดี ในขณะที่ด้านสุขภาพจิตใจซิตี้แบงก์ก็มีโปรแกรมที่คอยให้คำปรึกษาและดูแลเกี่ยวกับด้านปัญหาส่วนตัวตลอดจนด้านปัญหาสภาพจิตใจของพนักงานและครอบครัวของพนักงานด้วยผู้เชี่ยวชาญผ่านหลากหลายช่องทางโดยไม่มีวันหยุดอีกด้วย

 

สำหรับประเทศไทย ธนาคารซิตี้แบงก์ ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจเป็นระยะเวลากว่า 55 ปี เป็นธนาคารชั้นนำที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก โดยให้บริการด้านธุรกรรมการเงินหลากหลายครอบคลุมทั้งลูกค้าสถาบัน องค์กร และบุคคล ปัจจุบันในไทยมีพนักงานอยู่ประมาณ 2,300 คน ซึ่งล่าสุดธนาคารซิตี้แบงก์สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการ WeEmpowerAsia (WEPs) ที่จัดโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างผู้นำผู้หญิงและการมีส่วนร่วมในภาคธุรกิจของผู้หญิงในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เพื่อขับเคลื่อนการตระหนักถึงบทบาททางเพศในภาคเอกชน

 

รวมถึงการคว้ารางวัล  “2021 Best Companies to Work for in Asia – Thailand Edition” และรางวัลพิเศษ “We Care – The Most Caring Companies” จากนิตยสาร HR Asia อันเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานที่ซิตี้แบงก์ให้ความสำคัญกับพนักงานมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านธุรกรรมการเงินของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด

ส่อง "กลยุทธ์การสร้างคน" ธนาคารซิตี้แบงก์

ซิตี้แบงก์เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อพนักงานเป็นที่ตั้ง เพราะเชื่อมั่นว่าหากพนักงานมีการทำงานที่ดีมีความสุขในการทำงาน พนักงานก็จะสามารถรังสรรค์ผลงาน และตอบสนองการบริการแก่ลูกค้าด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยม พร้อมทั้งยังสนับสนุนความก้าวหน้าของพนักงานที่ต้องการเติบโตในสายงานด้วยความเต็มใจเพื่อให้พนักงานสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้อีกด้วย