ปมหลวงปู่เเสง “หมอปลา” จาก “ทุบศาล” สู่ “ทุบสงฆ์” บุกวัดต้องอาศัยกฎหมาย?

14 พ.ค. 2565 | 08:40 น.

ปมหลวงปู่เเสง สร้างกระเเสตีกลับ “หมอปลา” อย่างหนัก ย้อนดูพฤติกรรมหมอปลาจาก “ทุบศาล” สู่ “ทุบสงฆ์” บุกค้นวัดต้องอาศัยกฎหมาย ? มาฟังเสียงนักอาชญวิทยา

กำลังเป็นกระแส หลัง “หมอปลา มือปราบสัมภเวสี” พร้อมสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนา บุกเข้าไปภายในที่พักสงฆ์ บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังมีคลิปอ้างว่า “หลวงปู่แสง ญาณวโร” พระเกจิอายุ 98 ปี

โดยกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมลวนลามหญิงสาว ก่อนที่ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้ออกมาโต้แย้ง ว่า หลวงปู่แสง มีอาการอาพาธด้วยโรคอัลไซเมอร์ จนอาจแสดงพฤติกรรมออกมาโดยไม่รู้ตัว

ปมหลวงปู่เเสง “หมอปลา” จาก “ทุบศาล” สู่ “ทุบสงฆ์” บุกวัดต้องอาศัยกฎหมาย?

ทำให้มีกระแสฟาดกลับ และตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของ “หมอปลา” อาจก้าวล่วง “หลวงปู่แสง” ศิษย์หลวงปู่มั่น พระสายกรรมฐานวิปัสสนา  ท่ามกลางประเด็นดราม่าต่างๆ

ก่อนหน้าที่หมอปลาจะรับแจ้งและลุยปราบพระที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมนอกรีต  สังคมน่าจะรู้จักหมอปลาในฐานะยูทูปเบอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ด้วยสไตล์ขึงขัง จริงจัง  จากเมื่อก่อนเคยตระเวนทุบศาลตามสถานที่ต่างๆ ขยับมาทุบสงฆ์ หมายถึงการบุกจับพระถ้าพบว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

 

แน่นอนเรื่องนี้สร้างความสนใจให้กับสังคมไม่น้อย และปฎิเสธไม่ได้ว่า ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อมหาเถรสมาคม และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

 

คำถามที่ตามมาคือ พฤติกรรมของหมอปลาเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล หรือ อาจารย์โต้ง ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต ให้ความเห็นในมุมมองของนักอาชญวิทยา ระบุว่า โดยหลักการเมื่อต้องการตรวจสอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การตรวจสอบพระสงฆ์ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว

 

ก็ต้องย้อนกลับมาถามว่าเพราะอะไรถึงต้องตรวจสอบด้วยตนเอง หรือหน่วยงาน คนรับผิดชอบทำไม่เต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา มักมีความอ่อนไหว จะต้องละเอียดรอบคอบ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นดาบสองคม

 

 “การตรวจสอบเป็นสิ่งดี แต่ต้องมีเหตุผล รอบคอบ ไม่ใช้อารมณ์ หรืออยากมีตัวตน เพราะส่งผลเสียหากการตรวจสอบไม่เป็นความจริง เรื่องหมอปลา มีคนติดตามเยอะ ระยะหลังมีการตรวจสอบเยอะด้วย ต้องมาดูว่ามีอำนาจหน้าที่ทำได้มากน้อยแค่ไหน แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำ หรือทำไม่ดีพออย่างไร ทำไมถึงต้องมีคนอย่างหมอปลามาทำหน้าที่ ซึ่งเรื่องหลวงปู่แสงน่าจะเป็นบทเรียนได้ว่า เราไม่ใช่ศาล ไม่ใช่ผู้ตัดสินทางสงฆ์ การทำหมิ่นเหม่ต่างๆ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง”

 

เกิดเสียงวิพากวิจารณ์พฤติกรรมของหมอปลาว่าทำไปโดยละเมิดข้อกฎหมาย บุกรุกหรือไม่ เพราะปกติแล้วการจะเข้าไปค้นในที่ส่วนตัวได้นั้น จำเป็นต้องขอหมายศาลหรือไม่ เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย

 

เมื่อดูตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 1  ในประมวลกฎหมายนี้ระบุว่า สาธารณสถาน (สาธารณสถาน หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ มาตรา 1(3) ประมวลกฎหมายอาญา) ที่บุคคลโดยทั่วไปสามารถเข้าไปได้ โดยไม่จำต้องขออนุญาตผู้ใด ซึ่ง “วัด” ถือว่า เป็น สาธารณสถาน

 

ขณะที่ "เคหสถาน" ตามนัยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(4) บุคคลอื่นเข้าไปไม่ได้ต้องได้รับอนุญาตก่อน เช่น  “กุฏิ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า "เรือนหรือตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่"  กุฏิพระจึงเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณร จึงเป็น "เคหสถาน"

 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ ระบุว่า การบุกเข้าไปในสถานที่ใด จำเป็นต้องดูว่าสถานที่ที่เข้าไปนั้นเป็นที่รโหฐาน พื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่สาธารณะ ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะหากเข้าไปอาจกระทบสิทธิผู้อื่น สำหรับวัดถือเป็นพื้นที่สาธารณสถานที่พุทศาสนิกชนสามาถรถเข้าไปได้ แต่ก็ต้องดูว่าเข้าไปในเวลาไหน เช่น กลางวันคนมาทำบุญถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ายามวิกาล พระจำวัด หรือสถานที่นั้น เช่น โบสถ์ อุโบสถ มีการปิดไว้เพื่อการใดการหนึ่งแล้วบุกเข้าไป ก็ถือเป็นการหมิ่นเหม่ฐานบุกรุก หากทำลายสิ่งกีดขวางก็จะมีโทษเพิ่มขึ้น

 

ส่วนกฎิเป็นพื้นที่ของพระสงฆ์ เป็นเคหสถาน ก็ต้องดูที่เจตนา ช่วงเวลา และจุดมุ่งหมายของคนที่เข้าไปว่ามีการละเมิดสิทธิการครอบครองหรือไม่ หากมีการฟ้องร้องกันขึ้นมา ตามหลักการก็ต้องดูที่พยานหลักฐานแวดล้อม และเป็นไปตามดุลยพินิจของศาล

 

“ต้องดูเจตนา ว่าเข้าไปเพื่ออะไร กุฎิต่างจากโบถส์ อุโบสถ และถ้าเข้าไปก็ต้องดูว่ามีพระสงฆ์อยู่ไหม ไม่ใช่อยู่ดีๆเข้าไปกลางดึก และต้องอยู่หลักฐานว่าละเมิดสิทธิครอบครองหรือไม่”  

 

 เมื่อถามว่าหลัง "หมอปลา" ยอมรับผ่านไลฟ์สดว่ามีให้นักข่าวเข้ากุฏิไปหาหลวงปู่แสง เป็นเรื่องจริง แต่ไม่ได้เป็นการจัดฉาก เกิดเสียงวิพากวิจารณ์ว่าพฤติกรรมของหมอปลาถือการล่อซื้อหรือไม่ และสามารถทำได้ไหม

 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ ระบุว่า การล่อซื้อคือ รู้ว่าทำผิดแต่ขาดพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้การล่อซื้อเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยคนนั้นกระทำผิด ส่วนล่อให้กระทำผิด คือสร้างจูงใจโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำผิด ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะกระทำผิดแต่แรก

 

“กรณีล่อซื้อยาเสพติด ตำรวจจะมีการลงประจำวัน ถ่ายธนบัตร รวบรวมหลักฐานต่างๆ เนื่องจากไม่มีวิธีการใดแล้วที่จะไปจับกุม สำหรับเคสนี้จะเป็นการจัดฉากล่อลวง เหมาะสม ถูกต้อง ควรทำหรือไม่ต้องให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน แต่อยากฝากว่าถ้าจะทำอะไรควรมองให้รอบด้าน เราไม่ใช่ผู้วิเศษ ต้องพิจารณาหลักฐานอย่างละเอียด”