ความหมายชื่อ "ดาวดวงแก้ว" (Arcturus)ของโควิด XBB.1.16 ไพเราะแต่ร้าย

19 เม.ย. 2566 | 07:47 น.

ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือที่มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการให้จำง่ายขึ้นว่า "อาร์กทูรัส" (Arcturus)นั้น แปลเป็นไทยว่า "ดาวดวงแก้ว" ชื่อนี้ไพเราะ และมีที่มา 

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ ไวรัสโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 หรือในชื่อเรียกไม่เป็นทางการว่า อาร์กทูรัส (ดาวดวงแก้ว) ที่มีการตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดียเมื่อเดือน ม.ค.2566 นี้ และตรวจพบผู้ติดเชื้อในไทยแล้ว 27 ราย (มีเสียชีวิต 1 ราย) อยู่ในบัญชีเป็นสายพันธุ์ภายใต้การเฝ้าระวัง หรือ Variants under Monitoring (VUMs) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งนั่นหมายความว่า ความน่ากังวลเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้ ยังไม่เทียบเท่าสายพันธุ์ไวรัสโอมิครอนในกลุ่ม Variants of Concern (สายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือ VOCs) และสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest หรือ VOIs)

อย่างไรก็ตาม การเป็นสายพันธุ์ภายใต้การเฝ้าระวัง (VUMs)อาจจะขยับขึ้นมากลายเป็นอีกสองกลุ่มได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากความรวดเร็วในการแพร่ระบาดขยับแบบก้าวกระโดด อย่างเช่นกรณีของ XBB.1.16 ที่กำลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็วในอินเดีย และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน พบแล้วใน 29 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3,000 คน ณ กลางเดือนเมษายน

มาถึงชื่อของ โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 นี้ ที่มีการตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการเพื่อให้จดจำง่ายขึ้นว่า "อาร์กทูรัส" (Arcturus) ชื่อนี้มีที่มา อาร์กทูรัสเป็นชื่อดวงดาว ซึ่งชื่อของดวงดาวตามดาราศาสตร์สากลก็มักมีที่มาจากชื่อของ "เทพ" หรือ "สัตว์ต่างๆ" ในเทพปกรณัมของกรีก หรือตำนานโบราณ ซึ่งอาร์กทูรัสนั้น คือเทพผู้พิทักษ์หมี เขาเป็นบุตรของเทพซุส ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชันย์แห่งทวยเทพทั้งหลาย มารดาของอาร์กทูรัส คือ คาลลิสโต ซึ่งถูกเฮรา (ราชินีของเทพซุส) สาบให้กลายเป็นหมี เทพซุสพาสองแม่ลูกไปหลบภัยโดยเสกให้ทั้งคู่กลายเป็นดวงดวงบนฟากฟ้า คาลลิสโตเป็นดาวหมีใหญ่ และอาร์กทูรัสเป็นดาวผู้พิทักษ์หมี  

อาร์กทูรัส เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Alpha Boötis) เป็นดาวสีส้มสุกสว่างในซีกฟ้าด้านเหนือ   
อาร์กทูรัส อยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (α Boo / α Boötis / Alpha Boötis)เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวดังกล่าว มีค่าความส่องสว่างปรากฏเท่ากับ -0.05 ถือเป็นดาวสว่างที่สุดลำดับที่ 3 บนท้องฟ้ายามกลางคืน(รองจากดาวซิริอุส และดาวคาโนปุส) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับดาวคู่แอลฟาคนครึ่งม้าอาจจะดูจางแสงกว่า เพราะดาวคู่แอลฟาคนครึ่งม้าทั้ง 2 ดวงอยู่ใกล้กันมากจนดูด้วยตาเปล่าเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงความสว่างแล้ว ดาวอาร์กทูรัส อาจถือเป็นดาวฤกษ์สว่างลำดับที่ 4 บนท้องฟ้าก็ได้

ชื่อไทยว่า "ดาวดวงแก้ว" หรือ "ดาวยอดจุฬามณี"

ดาวอาร์กทูรัส มีชื่อภาษาไทยอย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า "ดาวดวงแก้ว" หรือ "ดาวยอดจุฬามณี" ตามพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ให้นิยามว่า เป็นชื่อกลุ่มดาวทางซีกฟ้าเหนือ มีดาวฤกษ์เด่นสว่างสีส้ม ชื่ออาร์กทูรัส (Arcturus)หรือดาวดวงแก้ว หรือดาวยอดมหาจุฬามณี เป็น 1 ใน 48 กลุ่มดาวโบราณของทอเลมี (คำว่า Arcturus มีชื่อเดียวกับภาษากรีกโบราณ "Arktouros"ซึ่งแปลว่า "ผู้พิทักษ์หมี")

ดาวดวงแก้ว หรือดาวยอดมหาจุฬามณี เป็นดาวฤกษ์สีส้มเด่นสว่างชัดเจนที่สุดในซีกฟ้าด้านเหนือ คนโบราณจึงเปรียบเป็นยอดของพระมหาเจดีย์ใหญ่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ พระมหาเจดีย์จุฬามณี

ดาวดวงแก้ว หรือดาวยอดมหาจุฬามณี เป็นดาวฤกษ์สีส้มเด่นสว่างชัดเจนที่สุดในซีกฟ้าด้านเหนือ

ดังมีตำนานเรื่องเล่าว่า ท้าวสักกะเทวราช ทรงสร้างพระมหาเจดีย์จุฬามณีไว้เป็นที่ประดิษฐานพระเกศธาตุ และพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ข้างขวาของพระพุทธเจ้าเพื่อให้หมู่เทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้สักการบูชา กล่าวกันว่า พระมหาเจดีย์จุฬามณี สร้างด้วยแก้วอินทนิล มียอดเจดีย์เป็นทองคำ ประดับด้วยรัตนะ ๗ ชนิด ล้อมรอบด้วยกำแพงทองสวยงามมาก

ทั้งนี้ การค้นหาดาวอาร์กทูรัสบนท้องฟ้า ทำได้อย่างง่าย ๆ คือ ลากเส้นจากแนวคันไถตรงออกไป หากลากตรงออกไปอีกก็จะเจอดาวสไปกา (แอลฟาหญิงสาว)

ก่อนหน้าจะมีการนำชื่อ "อาร์กทูรัส" มาตั้งเป็นชื่อเรียกไม่เป็นทางการของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 นั้น  ได้เคยมีการนำชื่อ "เทพ" หรือ "สัตว์" รวมทั้งอสุรกาย ในตำนานมาตั้งเป็นชื่อให้สายพันธุ์อื่นๆ มาก่อนแล้ว เช่น

  • คราเคน (Kraken) ใช้เรียกไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่พบมากในอเมริกาและยุโรป ซึ่งชนิดนี้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้ดี และมีโอกาสที่จะเป็นสายพันธุ์หลักต่อไปได้ จึงถือว่าเป็นสายพันธุ์อันตรายที่ต้องติดตาม ชื่อ "คราเคน"นั้น เป็นชื่อของสัตว์ประหลาดในทะเลตามตำนานโบราณของยุโรปเหนือ ที่เล่ากันมาว่า ในยุโรปกว่า 300 ปีมาแล้ว มีสัตว์ประหลาดลักษณะเหมือนปลาหมึกยักษ์ในทะเล คอยจมเรือ สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับกองเรือในมหาสมุทร กล่าวกันว่า "คราเคน"คือสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเคยจินตนาการกันมา
  • ส่วน "ออร์ธรัส" (Orthrus)เป็นอสุรกายหมาสองหัว ใช้เรียกโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย CH.1.1 ที่มีแนวโน้มจะพบเพิ่มขึ้นและสามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อและวัคซีนในอดีต มีพบในสหรัฐอเมริกาแต่ยังน้อยกว่าสายพันธุ์คราเคน ตามตำนานเทพปกรณัมหรือเทพนิยายของกรีกนั้น "ออร์ธรัส" เป็นสุนัข 2 หัว มีหางเป็นงู ทั้งน่ากลัวและอันตราย 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทั้งคราเคน และออร์ธรัส นั้น เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าจับตามองและถือว่าเป็นสายพันธุ์อันตราย เพราะหลบหลีกระบบภูมิต้านทานได้เป็นอย่างดี

ส่วน XBB.1.16 หรือ สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (อาร์กทูรัส)นั้น แพร่กระจายได้เร็วกว่า XBB.1.5 (คราเคนหรือปลาหมึกยักษ์) ประมาณ 1.2 เท่า และระบาดอย่างรวดเร็วเกือบ 30 ประเทศแล้ว

"ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นสายพันธุ์ดาวดวงแก้วเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ปลาหมึกยักษ์แน่นอน" หมอยงระบุ และว่า การเข้ามาแทนที่ของ XBB.1.16 เป็นตัวต่อไป (แทน XBB.1.5)นั้นเป็นไปตามวัฏจักรวงจร การเรียกชื่อว่า ดาวดวงแก้วหรือดาวยอดมหาจุฬามณี ชื่อนี้ฟังดูเพราะกว่าสายพันธุ์ก่อน น่าจะมีผลต่อจิตใจเราบ้าง