โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ยังใช้ ATK ตรวจได้หรือไม่

18 เม.ย. 2566 | 20:14 น.

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 แนวโน้มแพร่เชื้อเร็ว หลบภูมิคุ้มกันได้คล้ายสายพันธุ์เดิม กรมวิทย์ ไขข้อข้องใจชุดตรวจ ATK และ RT-PCR สามารถตรวจหาเชื้อได้หรือไม่ คลิกเลย 

จากกรณีที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด -19 สายพันธุ์ลูกผสม XBB รวมถึง XBB.1.5, XBB.1.9.1 และ XBB.1.16 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งมีแนวโน้มทดแทนสายพันธุ์หลักเดิม BN.1 โดยสถานการณ์สายพันธุ์ XBB.1.16 ในประเทศไทยนั้น

ล่าสุดพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้แล้ว 27 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย. 66) ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 66 (มี.ค. พบ 22 ราย เม.ย. พบ 5 ราย) โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้สูงอายุชาวต่างชาติ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึง โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ว่า อาจมีความสามารถในการแพร่เชื้อในระดับที่มากกว่าสายพันธุ์ย่อย XBB.1 และ XBB.1.5 และมีศักยภาพการหลบภูมิคุ้มกันคล้ายกับ XBB.1 และ XBB.1.5 อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น

"เรื่องความเร็วในการแพร่เชื้อของ XBB.1.16 ต้องรอดูเดือนหน้าว่า จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าเพิ่มขึ้นถึง 20-30% แสดงว่าแพร่เร็วขึ้นจริง และจะเบียดตัวเก่าไป แต่ถ้าไม่เร็วกว่า XBB.1.5 ซึ่งเร็วมากอยู่แล้ว ก็จะไม่เบียดไป ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกัน XBB.1.16 และ XBB.1.5 ทั้งสองตัวหลบได้ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ใครที่เคยติดเชื้อแล้วก็มีโอกาสติดอีกได้" นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับอาการของ XBB.1.16 ที่พบ คือ อาการระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก โดยมีข้อสังเกต พบผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้นร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็ก

ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า อาการของ XBB.1.16 อาจมีทั้งอาการตาแดงและตาไม่แดง มีไข้และไม่มีไข้ อาการจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล นพ.ศุภกิจ กล่าว

อย่างไรก็ดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ มาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป 

สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) และ Real-time PCR สามารถใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสมได้ รวมทั้ง XBB.1.16 ด้วย

"พื้นฐานของ ATK ถ้าเชื้อน้อยอาจตรวจไม่เจอ ต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน และอาจมีปัจจัยอื่นร่วม เช่น ATK เสื่อมสภาพเนื่องจากเก็บไว้นาน ส่วน PCR ตรวจเจอเชื้อได้ดีกว่าอยู่แล้ว สรุป คือ ทุกสายพันธุ์ยังตรวจหาเชื้อด้วยทั้งสองวิธีได้เหมือนกัน

ส่วนแนวทางการฉีดวัคซีนหลังจากนี้ ชนิดของวัคซีนขึ้นอยู่กับประชาชนเลือก ทั้งนี้ ยอมรับว่าวัคซีนรุ่นใหม่หรือไบวาเลนท์อาจดีกว่าวัคซีนรุ่นเก่าเล็กน้อย และจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) กระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นว่า อยากให้ประชาชนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ปีละ 1 ครั้ง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าวัคซีนจะได้ผลลดลงบ้างในแง่ของการกันติดเชื้อเพราะโควิดที่แพร่ระบาดอยู่ในไทยหลบภูมิได้ดีขึ้นแต่การฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์ ใครที่ฉีดเข็มสุดท้าย หรือติดเชื้อเกิน 3 เดือนไม่ต้องนับแล้วว่าฉีดกี่เข็ม แนะนำให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกัน ดีกว่าไม่มีอะไรเลยในตัว นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำและว่า 

สำหรับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ยังสามารถใช้รักษาโควิดสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยได้ แต่ยอมรับว่า เมื่อเป็นสายพันธุ์ XBB ได้ผลลดลง แต่ยังได้ผล ดังนั้น ถ้ากรณีที่ผู้ป่วยอาการหนัก จำเป็นต้องใช้รักษาควบคู่กันไป เพื่อลดความรุนแรง ซึ่งยังมีความจำเป็น ทั้งนี้ ต้องสอบถามจากกรมการแพทย์ ว่าอาจต้องเพิ่มโดสมากขึ้นหรือไม่

ด้านนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องตกใจเรื่อง XBB.1.16 มากเกินไป มีรายงานล่าสุดของประเทศอินเดีย เมื่อ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า อาการของสายพันธุ์ Arcturus หรือ XBB.1.16 นั้น ไม่แตกต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ อาการเยื่อบุตาอักเสบพบมากในเด็ก ส่วนที่บอกว่าไม่มีอาการไข้นั้น ไม่จริง จะต้องมีอาการไข้ พร้อมเน้นย้ำว่าไม่ต้องตระหนกตกใจเกินไป วัคซีนยังได้ผลดี สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมได้