เขย่าแผน ‘ดีวานา’ รีแบรนด์องค์กร ปัดฝุ่นเข้าตลาดหุ้น

24 ต.ค. 2565 | 12:00 น.

“สปา” โตแรง ดีวีเอ็นฯ เร่งสปีดบริหารธุรกิจขาขึ้น รีแบรนดิ้งองค์กร ขยายพอร์ตโฟริโอ ขยายสาขารองรับดีมานด์ลูกค้าล้น พร้อมปัดฝุ่นแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปีด้วยรายได้ 1,200 ล้านบาท

นายธเนศ จิระเสวกดิลก ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วน บริษัท ดีวีเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารแบรนด์สปาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ “ดีวานา สปา” และ “DII” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโควิด โรค NCDs (non-communicable diseases) กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือแม้กระทั่งออฟฟิศซินโดรม เป็นปัญหาหลักของคนทั้งโลก สะท้อนให้เห็นภาพว่าเรื่องของสุขภาพไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นความจำเป็นของความใช้ชีวิต

เขย่าแผน ‘ดีวานา’ รีแบรนด์องค์กร ปัดฝุ่นเข้าตลาดหุ้น               

ดีวานาจึงมีโซลูชันในการที่จะเป็น longevity Platfrom ที่จะดูแลสุขภาพ สร้างความสุขและเติมเต็มเรื่องสุนทรียะในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน โดยใช้ wellness + Technology เข้ามาช่วยเพื่อเข้าถึงคนได้ลึกขึ้น ง่ายขึ้นและมีมิติที่ดูแลลูกค้าได้ดีขึ้น ผ่านหลักการ 4 รูปแบบ คือ 1 คือ 1.หลักธรรมชาติบำบัด 2. ภูมิปัญญาโดยใช้ภูมิปัญญาไทยหรือไทยเมดเป็นหลัก 3. เรื่องของจิตวิญญาณ หรือสัมผัสที่ 7 และ 4. การนำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพเข้ามาเติมเต็ม และสร้างออกมาเป็นธุรกิจ 4 พอร์ตหลักได้แก่

              

1. Wellness Spa ซึ่งเป็น Day spa แบรนด์ Divana ปัจุบันมี 4 สาขา และมีแผนขยายสาขาที่ภูเก็ตและพัทยา ภายใน 1-2 ปีนี้

2. Clinic And Medical Spa ภายใต้แบรนด์ DII ให้บริการ beauty slimming และ Anti-aging มีสาขาต้นแบบที่ Central Embassy ,Siam Paragon, Exchange Tower, CentralWorld และสาขาสีลม

3. Skincare และ Homecare ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพร่างกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยภายใต้ 2 แบรนด์คือ Divana และแบรนด์DII

4. ธุรกิจอาหารเสริม personalize supplement ซึ่งสามารถออกแบบวิตามินและสารอาหารเฉพาะบุคคล เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด

 

นอกจากยังมีบริการ Delivery treatment การดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพให้กับคนเมือง รวมไปถึงไทยเมดคลินิก หรือคลินิกแพทย์แผนไทย และอเคดามีเพื่อผลิตบุคลากรด้านเวลเนส และองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพ และสุดท้ายคือ Divana Signature Cafe ซึ่งเน้นในเรื่องของดีไซน์ ซึ่งไม่ใช่แค่กลิ่นหรือรสชาติอาหารเท่านั้นแต่ได้ในทุกๆสัมผัสและทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็มและสร้างจินตนาการให้มันเกิดขึ้นมาได้

 

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของ Divana แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ คนที่ต้องการการดูแลสุขภาพ , คนเมือง, ผู้สูงอายุ และมิเลนเนียลหรือเจนใหม่ๆ ที่มีความเป็น digital native สามารถที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง และคืนผลกระทบที่ดีต่อสังคมได้

เขย่าแผน ‘ดีวานา’ รีแบรนด์องค์กร ปัดฝุ่นเข้าตลาดหุ้น               

โดยรายได้หลักยังคงมาจากเซอร์วิสหรือสปาเกิน 50% ของธุรกิจทั้งหมด แต่ในอนาคตเราต้องการให้สัดส่วนรายได้ 4 ธุรกิจเท่ากันคือ 25% และในปีนี้เราจะขยายธุรกิจหลักคือสปา ทั้งเพิ่มกำลังผลิตในการให้บริการในสาขาปัจจุบันรวมถึงขยายสาขาตามแผนที่วางไว้ก่อนโควิด และในปีหน้าจะขยายสาขาให้ได้ 2-3 สาขา แต่ต้องดูเทรนด์และแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจของโลกด้วยว่า หลังสิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวจะกลับมามากน้อยเท่าใด

 

ด้านนายพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ดีวีเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า หลังโควิดเชื่อว่าแลนด์สเคปเชิงสุขภาพมีความเปลี่ยนไป แรงขึ้นและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็มีภาวะเหมือนจะดีขึ้นแต่ก็ไม่เหมือนเดิม ในอดีตเราสามารถวางแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปีทุกอย่างเดินตามแผน แต่ปัจุบันสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่กลับใช่ บางอย่างที่มั่นใจกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

เขย่าแผน ‘ดีวานา’ รีแบรนด์องค์กร ปัดฝุ่นเข้าตลาดหุ้น               

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน แม้ว่าลูกค้าจะกลับเข้ามาใช้บริการน้อยราว 40-50% จากสถานการณ์ปกติ แต่โดยรวมกราฟยังพุ่งขึ้น นั่นหมายความว่าดีวานา กำลังบริหารธุรกิจขาขึ้นหลังจากที่บริหารธุรกิจขาลงมา 3 ปีโดยปรับกลยุทธ์หลายอย่างเพราะเจอความท้าทายหลายด้านเช่น วัตถุดิบแพงขึ้น แต่ลูกค้าไม่มีกำลังซื้อ ต้องการเพิ่มพื้นที่และขยายสาขาแต่ไม่มีพนักงาน เพราะในช่วงโควิดพนักงานออกไปทำอย่างอื่นกันเยอะ แม้กระทั่งตอนนี้พนักงานเองก็ยังไม่มีความมั่นใจ 100% ว่ากลับมาแล้วจะไม่ต้องหยุดไปอีก จึงต้องมีการเทรนนิ่งและรีสกิลใหม่ ก็เหมือนกับต้องเริ่มธุรกิจใหม่ทั้งหมด

              

“นอกจากนี้เรายังมีการ Rebranding ใหม่ทั้งองค์กร เพื่อเตรียมรับลูกค้าที่เข้ามาเพิ่มขึ้นทั้งลูกค้าต่างชาติและคนไทย โดยพอร์ตที่เติบโตที่สุดคือสปาและอาหารเสริม ส่วนสัดส่วนลูกค้าตอนนี้เป็นคนไทย 40% ต่างชาติ 60% อาทิ เกาหลี และญี่ปุ่น”

              

โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตเดือนละ 40% ซึ่งปัจจุบันยังเติบโตตามเป้าส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากกว่า 100 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท และบริษัทมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง จากเดิมที่เคยวางแผนไว้ในปี 2563-2564 โดยคาดว่าจะสามารถเข้าระดมทุนได้ภายใน 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ในช่วงเวลานั้นราว 1,200 ล้านบาท

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,829 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565