เช็คอาการ "เจ็บคอ" บ่งชี้หลายโรค อาจร้ายแรงกว่าที่คิด

09 ต.ค. 2566 | 10:40 น.

เช็คอาการ "เจ็บคอ" สุดทรมาน สร้างความรำคาญในการทำงาน และใช้ชีวิต แพทย์ชี้ "เจ็บคอ" อาการบ่งชี้หลายโรค จากหลายสาเหตุอาจฟ้องความเจ็บป่วยร้ายแรงกว่าที่คิด

"เจ็บคอ" เป็นอาการที่สร้างความรำคาญ ไปจนถึงความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้ที่มีอาการ ทั้งยังส่งผลกระทบกับการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย อาการ "เจ็บคอ" ยังอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงกว่าที่จะคาดถึง

บทความของ รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุถึงอาการ "เจ็บคอ" ว่ามีอาการแตกต่างกันตามสาเหตุ เช่น เจ็บ แสบ หรือรู้สึกระคายเคืองในลำคอ ,กลืนลำบาก, รู้สึกว่าคอแห้ง, เสียงอาจเปลี่ยน อาจมีอาการปวดร้าวไปหู - เยื่อบุในลำคอมีสีแดง  อาจมีตุ่มแดงของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองโตเป็นจุดๆ, ต่อมทอนซิล บวม โต และแดง อาจมีจุดหนองสีขาวเหลือง หรือฝ้าขาวอยู่บนต่อมทอนซิล อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอ โต และเจ็บ

อาการเจ็บคอ ที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  ผู้ป่วยอาจมีไข้ บางครั้งหนาวสั่น ไอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว  ปวดร้าวไปหู  เสียงแหบ  มีน้ำมูกใสๆ คัดจมูก  คัน  จาม  มีเสมหะ มีกลิ่นปาก  เยื่อบุตาอักเสบแดง  ปวดท้อง และท้องเสีย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

อาการเจ็บคอ จากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  

  • เชื้อไวรัส เช่น จากโรคหวัด, โรคไข้หวัดใหญ่, โรคคออักเสบ, โรคกล่องเสียงอักเสบ, โรคหลอดลมอักเสบ ,เชื้อหัด ,เชื้ออีสุกอีใส ,เชื้อเริม
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ, โรคฝีรอบต่อมทอนซิล, โรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ, โรคไซนัสอักเสบ, โรคคอตีบ โรคคออักเสบจากการติดเชื้อ 

อาการเจ็บคอ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ 

  • โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง
  • การใช้เสียงมากเกินควร
  • โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
  • สายเสียงอักเสบเรื้อรัง,โรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคออักเสบ
  • โรคเนื้องอกของคอ และกล่องเสียง
  • สิ่งแปลกปลอมที่ค้างอยู่ในลำคอ
  • การสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ควัน, ฝุ่น, สารเคมี
  • เยื่อบุลำคออักเสบ จากการฉายแสง หรือการได้ยาเคมีบำบัด

การรักษาอาการ "เจ็บคอ"

  • อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัส  

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ เช่นยาอม, ยากลั้วคอ หรือพ่นคอ, จิบยาน้ำ ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และลดอาการระคายคอ
ยาบรรเทาอาการปวด หรือเจ็บคอ หรือยาลดไข้ เช่น paracetamol, NSAID, ยาลดน้ำมูก หรือแก้แพ้ โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ หรือยาแก้อักเสบ 

  • อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ หรือยาแก้อักเสบให้นานพอ เช่น 7-10 วัน โดยเฉพาะถ้าเกิดจาก Streptococcus เพื่อป้องกันไข้รูมาติค หรือกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน

ทั้งนี้ อาการเจ็บคอเรื้อรัง แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติ  ตรวจร่างกาย และทำการตรวจจมูก ไซนัส ช่องคออย่างละเอียด  ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจจมูก ไซนัส ช่องคอ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังที่ถูกต้อง

ดังนั้นผู้ที่มีอาการไอเรื้อรังจึงไม่ควรซื้อยาต้านจุลชีพ หรือยาแก้อักเสบมาทานเอง เนื่องจากอาจไม่ตรงกับสาเหตุที่เป็น และทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาได้  

 

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล