‘แมลงก้นกระดก’ กับพิษร้ายที่มองไม่เห็น

08 ต.ค. 2566 | 10:17 น.

‘แมลงก้นกระดก’ กับพิษร้ายที่มองไม่เห็น : Tricks for Life

ภัยที่มากับฤดูฝน นอกเหนือจากโรคต่างๆ สัตว์มีพิษเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น “แมลงก้นกระดก” ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ถึงความร้ายแรงในพิษของแมลงชนิดนี้ จึงมักกำจัดด้วยการปัดไล่เหมือนแมลงทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้ว หากพิษถูกผิวหนังจะทำให้เกิดผื่นคันหรือแผลพุพอง และหากพิษถูกบริเวณดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้ 

‘แมลงก้นกระดก’ กับพิษร้ายที่มองไม่เห็น

แมลงก้นกระดกเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 7 -8 มิลลิเมตร มีลำตัวสีดำสลับสีส้ม ส่วนปลายหางแหลม จะพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนเนื่องจากสภาพอากาศที่ชื้นและมืดลงในตอนกลางคืน แมลงก้นกระดกจึงมักออกมาหาอาหารและเล่นแสงไฟในบ้านเรือน

แมลงก้นกระดกจะปล่อยสารที่เรียกว่า “พิเดอริน” (Pederin) ออกมา โดยสารชนิดนี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังมาก สามารถทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน ทำให้เกิดภาวะผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก หรือ Paederus dermatitis ซึ่งจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีหลังสัมผัสโดน แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อผ่านไป 24 ชม. จะมีอาการ

เช่น แสบร้อน พบรอยไหม้ และตุ่มน้ำเป็นผื่นที่มีลักษณะคล้ายเป็นเริมหรืองูสวัด เป็นรอยยาว ไม่เป็นกระจุก มักพบรอยบริเวณนอกเสื้อผ้า ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่สัมผัสโดนในบางคนที่แพ้พิษอาจมีอาการรุนแรง เช่น พุพอง คลื่นไส้อาเจียน หรือเริ่มมีไข้ ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่หากโดนบริเวณตา หรือเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้ 

ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดก จะตกสะเก็ดและหายได้เองภายใน 7 - 10 วัน เมื่อหายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง มักไม่เกิดแผลเป็นนอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำที่บริเวณผื่น ทำให้ผื่นหายช้าลง และอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้ 

วิธีปฏิบัติเมื่อสัมผัสโดนแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดน คอยสังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้น มีตุ่มน้ำพอง หรือเริ่มหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

 ขอบคุณ : Wellness Center โรงพยาบาลเวชธานี

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,929 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566