มีไข้สูงแบบไหน ระวังป่วย 3 โรคนี้ "ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่-โควิด-19"

09 มิ.ย. 2566 | 17:57 น.

ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่มีอาการป่วยเบื้องต้นคล้ายกันอยู่บางประการ นั่นคือ อาการมีไข้ ไข้ขึ้นสูง หากมีอาการเบื้องต้นแบบนี้ เราจะสังเกตตัวเองต่อไปอย่างไร

 

ช่วงหน้าฝน ผู้คนไม่สบายกันได้ง่ายๆ เนื่องจากอากาศที่มีความชื้นสูง ทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่าง ๆที่ แพร่กระจายอยู่ในอากาศ สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราได้โดยตรง การไอ จาม หรือการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย ยังช่วยให้เชื้อโรคทางเดินหายใจอย่าง ไข้หวัดใหญ่ และ โควิด-19 แพร่กระจายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน หน้าฝนยังมักจะมาพร้อมกับยุงลาย พาหะของเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของ ไข้เลือดออก อีกด้วย

โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 เป็น 3 โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน สามารถสังเกตตัวเองในเบื้องต้นได้ดังนี้

อาการที่เหมือนกันหรือคล้ายๆ กัน

โรคทั้ง 3 มีการที่เหมือนกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน (ไข้สูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ คือสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย หมดแรง อาจจะมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องอืด ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย

โรคไข้เลือดออก

เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มี 4 สายพันธุ์ โรคไข้เลือดออกนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มอายุ และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากเกิดอาการรุนแรง แม้ว่าจะเคยติดเชื้อไข้เลือดออกแล้ว ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ถ้าหากได้รับเชื้อต่างชนิดกัน

อาการของโรคไข้เลือดออกที่สังเกตได้ คือ

  • ไข้สูง (นาน 2-7 วัน)
  • ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดกระบอกตา
  • ตัวแดง ตาแดง
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ถ่ายเหลว
  • ท้องอืด

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งแยกความแตกต่างกันแทบจะไม่ได้เลย

โรคโควิด-19

โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก่อให้เกิดอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน จากการถูกไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของคนที่ป่วย

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถติดเชื้อซ้ำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมถึงผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

อาการที่เด่นชัดของโควิด-19 ได้แก่

  • มีไข้สูง มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ไอแห้ง เจ็บคอ มีน้ำมูก
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ถ่ายเหลว
  • หายใจลำบาก หายใจเหนื่อยหอบ
  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

ไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) พบได้ในทุกเพศ ทุกกลุ่มอายุ แพร่ระบาดอย่างมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ติดต่อผ่านการไอ จาม หรือหายใจรดกัน โดยมีระยะฟักตัว 1-4 วัน

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งแยกความแตกต่างกันแทบจะไม่ได้เลย ดังนั้น ในเบื้องต้นแนะนำให้ตรวจ ATK เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นด้วยตนเองก่อนว่ามีผลติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นชัด ได้แก่

  • มีไข้สูง
  • ไอ ไอมีเสมหะ ไอแห้ง
  • เจ็บคอ เสียงแหบ (บางราย)
  • มีน้ำมูก คัดจมูก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว จะพบว่ามีอาการแน่นจมูก มีน้ำมูก ได้บ่อยกว่าคนทั่วไป

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 นอกจากจะมีความคล้ายคลึงกันแล้ว ยังมีโอกาสติดเชื้อร่วมกันได้ด้วย ซึ่งหากผู้ป่วยติดโควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ จะทำให้มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เป็นการเสริมเกราะภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

โดยสรุป คือ สำหรับผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนบน หากมีไข้ พร้อมอาการไอ เจ็บคอ ตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว แสบคอมาก ควรตรวจ ATK ทันที

ส่วนผู้ที่มีไข้ พร้อมมีอาการเตือนของโรคไข้เลือดออกดังกล่าวมาข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การรักษาโรคไข้เลือดออก จำเป็นที่จะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

สำหรับวิธีการรักษานั้น ในกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นกลุ่มโรคที่มีการรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะแบ่งตามความเสี่ยงและระดับอาการของผู้ป่วย

ส่วนการรักษาโรคไข้เลือดออก จำเป็นที่จะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล เนื่องจากมีโอกาสมีภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก อาจพบเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกตามไรฟัน ภาวะเลือดออกนี้ส่งผลให้ระดับเกล็ดเลือดลดต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีไข้ตั้งแต่วันที่ 3 เป็นต้นไป ผู้ป่วยอาจเกิดอาการรุนแรงและเสี่ยงเกิดอาการช็อกเมื่อไข้ลดลงใน 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งถือเป็นระยะวิกฤตของโรคไข้เลือดออก

ดังนั้น หากทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการอยู่ในระยะใด