เช็ค 3 สัญญาณเตือนอาการ "ไส้ติ่งอักเสบ" ต้องพบแพทย์ด่วน !

11 เม.ย. 2566 | 17:55 น.

เช็ค 3 สัญญาณเตือน "ไส้ติ่งอักเสบ" พร้อมข้อสังเกตอาการปวดท้อง ว่าปวดท้องแบบไหน เสี่ยงเป็นไส้ติ่งอักเสบ ที่ต้องพบเเพทย์ด่วน

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) เป็นโรคปวดท้องเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุด โดยสามารถพบได้ในทุกวัย จำนวนผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 7 ของคนไทย โดยส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยในวัยเด็กจนถึงวัยทำงาน พบมากในช่วงอายุ 12 – 60 ปี แต่ในอายุที่น้อยหรือมากกว่านี้ก็พบได้เช่นกัน การพบแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่ระยะแรก ๆ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อแยกโรคจากอาการปวดท้องอื่น ๆ จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

 

ลักษณะของไส้ติ่ง

  • เป็นท่อตันที่แยกมาจากบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ตำแหน่งจะอยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวา
  • การอักเสบของไส้ติ่งเป็นผลมาจากการอุดตันของรูท่อไส้ติ่ง อาจจะเกิดจากอาหารที่กินเข้าไปกลายเป็นอุจจาระแข็งตัว หรือภาวะต่อมน้ำเหลืองโต ทำให้แรงดันในไส้ติ่งสูงขึ้น มีการสะสมของแบคทีเรียและเกิดการอักเสบในที่สุด
  • หรือเกิดจากการอุดตันของสิ่งแปลกปลอม ก้อนเนื้องอก หนอนพยาธิได้เช่นกัน
  • หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ความรุนแรงของโรคจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผนังไส้ติ่งเกิดการเน่าและแตกส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายเป็นอันตรายถึงชีวิต

สัญญาณเตือนอาการไส้ติ่งอักเสบ

  • ปวดรอบสะดือ เป็นสัญญาณเตือนระยะเริ่มแรกของอาการที่ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณรอบๆ สะดือแบบเฉียบพลัน จุกแน่นท้อง เบื่ออาหาร
  • ปวดเสียดท้องข้างขวา อาการปวดท้องจะเลื่อนลงมาด้านล่างขวา ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา และจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ไอ จาม ในบางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
  • มีไข้ หนาวสั่น นอกจากอาการปวดท้องแล้ว จะมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น มีไข้ เนื่องจากเกิดการติดเชื้อ หรือในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วม และหากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษา จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด จนเสียชีวิตได้

อาการไส้ติ่งอักเสบ

ข้อมูล : โรงพยาบาลเปาโล , โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลศิครืนทร์