แพ้กุ้ง แพ้หัวกุ้ง ต่างกันยังไง หัวกุ้งฉีดฟอร์มาลีนมีจริงหรือ มีคำตอบ

21 มี.ค. 2566 | 13:21 น.

แพ้กุ้ง แพ้หัวกุ้ง ต่างกันยังไง หายได้ไหม หัวกุ้งฉีดฟอร์มาลีนมีจริงหรือไม่ อ่านตรงนี้ มีคำตอบ พร้อมความเข้าใจที่ถูกต้องของคนแพ้กุ้ง

จากกรณีพบผู้ใช้โซเชียลมีเดีย โพสต์ข้อความเตือนภัยในลักษณะเดียวกันว่า มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ตาบวม ปากชา หายใจไม่สะดวก หลังจากรับประทานหัวกุ้ง ทั้งที่ไม่เคยแพ้กุ้ง จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พร้อมระบุว่าเกิดจากการแพ้ฟอร์มาลีนที่นำมาฉีดหัวกุ้ง

แพ้กุ้ง แพ้หัวกุ้ง

ล่าสุด เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้ตั้งข้อสังเกต และไขข้อข้องใจต่อกรณีดังกล่าวว่า การแพ้เฉพาะหัวกุ้ง โดยไม่แพ้เนื้อกุ้ง สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากอาจเป็นการแพ้โปรตีนบางชนิดที่อยู่เฉพาะในหัวกุ้งเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าอาการแพ้ที่ระบุว่าเกิดจากฟอร์มาลีนที่นำมาฉีดหัวกุ้ง ไม่น่าเป็นไปได้จริง

อาจารย์เจษฎ์ ให้เหตุผลว่า ฟอร์มาลีน เป็นสารที่มีลักษณะเหลว ใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุนรุนแรง การลักลอบนำมาใช้มักนำมาละลายในน้ำแล้วนำไปราดบนอาหาร หรือนำอาหารไปแช่ ก่อนที่จะสะเด็ดนำขึ้นมาขาย ไม่มีรายงานว่า พบการนำฟอร์มาลีนมาฉีดที่หัวกุ้งทีละตัว เพราะเป็นการเสียเวลา ทั้งนี้ กฎหมายห้ามไม่ให้นำฟอร์มาลีนมาใช้กับอาหารโดยเด็ดขาด 

อาการของผู้ได้รับสารฟอร์มาลีนในปริมาณมาก จะมีอาการ ปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้งคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้ แต่หากรับในปริมาณเล็กน้อยในระยะเวลานาน จะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้

แพ้กุ้งเกิดจากอะไร

เพจ ภูมิแพ้แก้ได้ Allergic march อธิบายถึง การแพ้กุ้ง หรือ ภูมิแพ้กุ้ง ว่า เกิดจากการแพ้โปรตีนในกุ้งที่ชื่อ “โทรโพไมโอซิน (Tropomyosin)” ซึ่งมีอยู่ในกุ้งทุกชนิดทั้งกุ้งน้ำจืด และกุ้งน้ำเค็ม และสามารถพบโปรตีนชนิดนี้ได้ใน กลุ่มสัตว์น้ำมีเปลือก (Shellfish) ปู ล็อบสเตอร์ หอย หมึก ด้วย

แพ้กุ้ง

ความรุนแรง ของอาการแพ้กุ้ง

อาการแพ้กุ้ง มักแสดงอาการภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังรับประทาน แบ่งความรุนแรงออกเป็น 2 ระดับ

  1. อาการแพ้ไม่รุนแรง 

มักมีผื่นลมพิษ คัน , มีอาการคันปาก คันลิ้น, ปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน , คันจมูก คัดจมูก ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการนำของการแพ้รุนแรง

  1. อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) 

มักพบอาการ ลมพิษทั่วตัว ปากบวม ลิ้นบวม แน่นในคอ ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเหลว อาเจียนหลายรอบ หายใจหอบเหนื่อย มีเสียงวี้ด อาจทำให้ความดันตก วูบ หมดสติได้ ซึ่งมีความอันตรายถึงชีวิตได้ หากปฐมพยาบาลและนำส่งรพ.ไม่ทันเวลา

กินยาแก้แพ้ ก่อนกินกุ้ง ได้หรือไม่

การรับประทานยาแก้แพ้ ก่อนรับประทานกุ้งสำหรับผู้ที่แพ้กุ้งนั้น อาจช่วยบรรเทาอาการได้แค่เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นการบดบังอาการขั้นต้น และนำไปสู่การแพ้รุนแรงและเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการแพ้กุ้งจึงควรหลีกเกี่ยงการกินกุ้ง รวมถึง อาหารทะเลประเภท Shellfish ทั้งกลุ่ม 

รู้ได้อย่างไรว่า แพ้กุ้ง หรือไม่

สามารถทดสอบอาการแพ้กุ้งได้โดยพบแพทย์โรคภูมิแพ้ ซึ่งมีการทดสอบหลายวิธี เช่น เจาะเลือด สะกิดผิวหนัง และการทดลองกินกุ้ง (oral challenge test) ทั้งนี้ห้ามทดสอบโดยการลองกินกุ้งด้วยตนเอง ไม่ว่าจะด้วยการแตะ เลีย หรือชิมเพียงเล็กน้อย ทั้งสุก และดิบ เนื่องจากทำให้เกิดการแพ้ได้

ข้อควรปฏิบัติสำหรับคนแพ้กุ้ง

  • ห้ามรับประทานกุ้งโดยเด็ดขาด ทั้งกุ้งน้ำจืด และน้ำเค็มรวมถึงกลุ่มสัตว์น้ำมีเปลือก (Shellfish)ทุกชนิด
  • ห้ามทานยาแก้แพ้ เพื่อรับประทานกุ้ง เนื่องจาก อาจไปกดทับอาการนำ ก่อให้เกิดการแพ้รุนแรง
  • ห้ามทดลองอาการแพ้กุ้งด้วยตนเอง แม้แต่การแตะกุ้งที่ลิ้นก็ตาม
  • ควรพกยาแก้แพ้ “เอพิเนฟฟริน แบบพกพา (Epinephrine self-injection)”ติดตัว กรณีรับประทานกุ้ง หรืออาหารส่วนผสมของกุ้งไปโดยไม่รู้ตัว