จับตา สธ. เคาะแนวทางรักษา “ฝีดาษลิง”1 ส.ค.นี้

01 ส.ค. 2565 | 03:25 น.

จับตา สธ. เคาะแนวทางรักษา “ฝีดาษลิง”1 ส.ค.นี้ WHO ระบุยังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฝีดาษวานรให้ประชาชนในวงกว้าง ย้ำว่าโรคฝีดาษวานร ไม่ได้ติดต่อง่ายเหมือนโรคโควิด

สถานการณ์โรคฝีดาษลิง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2565) พบผู้ป่วยยืนยัน ทั่วโลก 22,816 ราย (เพิ่มขึ้น 6,502 ราย) ใน 76 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 5,189 ราย  สเปน 4,386 ราย  เยอรมัน 2,595 ราย  อังกฤษ 2,469 ราย  และฝรั่งเศส 1,955 ราย 

 

ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย มีรายงานผู้สัมผัส 42 ราย ครบการกักตัวแล้วทั้งหมด 3 ราย และมีผู้เข้าเกณฑ์ป่วยสงสัย 30 ราย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 30 ราย ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ติดตามและประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เร่งค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรและความปลอดภัยของประชาชน

โดยในวันนี้ กรมการแพทย์ จะนำข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการรักษาฝีดาษลิง ให้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ อีโอซี ระดับกระทรวงพิจารณา หลังจากที่กรมการแพทย์ได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมโรคผิวหนัง สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่ ราชวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หารือถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งได้ข้อสรุปไปแล้ว

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า องค์การอนามัยโลก แนะนำว่ายังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฝีดาษวานรให้กับประชาชนในวงกว้าง แต่อาจฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หรือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ (LAB) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป

 

ขอย้ำว่าโรคฝีดาษวานร ไม่ได้ติดต่อง่ายเหมือนโรคโควิด 19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นมาตรการป้องกันโรคโควิด 19

 

ยังสามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยเน้นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือผู้ป่วยต้องสงสัย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที