อัพเดท “ฝีดาษลิง” จากเริ่มต้น จนแสดงอาการควรปฏิบัติอย่างไร

30 ก.ค. 2565 | 07:26 น.

“ฝีดาษลิง” ทั่วโลกติดเชื้อทะลุ 2 หมื่นราย ใน 74 ประเทศ รวมถึงไทย กรมการแพทย์ อัพเดทอาการตั้งแต่เริ่มต้น จนแสดงอาการ และการรักษา ควรสังเกตและปฏิบัติตัวอย่างไร ย้ำตื่นตัวแต่อย่าตื่นตระหนก

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง ทั่วโลก  ณ วันที่ 27 ก.ค. 65 พบว่าผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 20,849 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 74 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,639 ราย สเปน 4,001 ราย เยอรมัน 2,459 ราย สหราชอาณาจักร 2,367 ราย และฝรั่งเศส 978 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิต 5 รายซึ่งอยู่ในแอฟริกาทั้งหมด 

 

ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง รายที่ 2 อาศัยในกรุงเทพมหานคร  เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 47 ปี ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติ โดยผู้ป่วย เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัวประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน พบมีตุ่มหนองที่ตามตัว และ  อวัยวะเพศ  ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ  

อัพเดท “ฝีดาษลิง”  จากเริ่มต้น จนแสดงอาการควรปฏิบัติอย่างไร

ส่วนผู้สัมผัสร่วม 10 ราย  กรมควบคุมโรคได้มอบให้ ทีมสอบสวนโรคโรคติดตามผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด  โรคฝีดาษวานรหรือโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (POX Virus) กลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

 

แพทย์หญิงนฤมล  สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า การติดต่อและการแพร่กระจายของโรคพบว่า ส่วนมากติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผล (Contact) ของผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะประชิด เช่น กินข้าวหรือ อยู่ห้องเดียวกัน หรืออาศัยนอนด้วยกัน การแพร่กระจายอาจติดต่อทางฝอยละออง (Droplet) ได้

 

ระยะฟักตัว 7-21 วัน

ไวรัสฝีดาษลิง มีเปลือกหุ้ม ธรรมชาติเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตาย แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จริงๆ ไวรัสตัวนี้ไม่ได้ติดง่าย แต่ก็ไม่ยาก

 

หากใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก็มีโอกาส แต่ถ้าล้างมือบ่อยๆ ป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก จะลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ  ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยทั่วไปที่ระยะฟัก อยู่ ระหว่าง 7- 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น

แพทย์หญิงนฤมล  สวรรค์ปัญญาเลิศ

อาการที่พบในผู้ป่วยฝีดาษวานร นอกจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างการ ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว มีรายงานการศึกษาใน วารสารทางการแพทย์ พบว่า

 

56.3% ผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนองหรือเยื่อบุในอวัยวะต่างๆ ผื่น ตุ่ม หรือแผลนั้นเกิดที่อวัยวะเพศ

 

41.6%  ผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนองหรือเยื่อบุบริเวณทวารหนัก

อัพเดท “ฝีดาษลิง”  จากเริ่มต้น จนแสดงอาการควรปฏิบัติอย่างไร

86% ผู้ป่วยจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนมีผื่น หรือหลังผื่นขึ้นก็ได้ มีผู้ป่วยบางส่วน ที่มีผื่น โดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เลย

 

อาการผิดปกติอื่นที่พบ คือ ปวดทวารหนัก เจ็บคอ แผลในช่องปาก และองคชาติบวม มีผู้ป่วยถึงหนึ่งในสามที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

 

อาการหายได้เองภายในระยะ 2-4 สัปดาห์

 

การรักษาเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษ ในต่างประเทศนำมาศึกษาวิจัยในการดูแลผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการรุนแรง 

 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมโรคผิวหนัง สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่ ราชวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หารือถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วและอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี (EOC) ระดับกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคมนี้

 

ข้อแนะนำและการป้องกันโรคฝีดาษลิง

 

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือ แอลกอฮอล์เจล
  • สวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติ มาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ
  • กรณีพบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด นำส่งสถานพยาบาลที่สามารถแยกกักตัวผู้ป่วยได้