ฝีดาษลิงติดต่อยังไง อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร ระยะแพร่เชื้อตอนไหน เช็คเลย

30 ก.ค. 2565 | 19:11 น.

ฝีดาษลิงติดต่อยังไง อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร ระยะแพร่เชื้อตอนไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ดร.อนันต์ชี้การเกิดตุ่มหนองบนผิวหนังไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่จุดแรกที่ร่างกายรับเชื้อเข้ามา

ฝีดาษลิงติดต่อยังไง อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร ระยะแพร่เชื้อคือตอนไหน เป็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก 

 

หลังจากที่โรคดังกล่าวมีการระบาดแล้วมากกว่า 75 ประเทศ

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (Anan Jongkaewwattana)โดยมีข้อความระบุว่า 

 

ความเข้าใจผิดข้อหนึ่งเกี่ยวกับการเกิดแผล หรือ ตุ่มหนองของผู้ป่วยฝีดาษลิง เกิดจากการสัมผัสกับไวรัสที่บริเวณที่เกิดตุ่มหนองนั้นโดยตรง เช่น 
แผลที่บริเวณจุดซ่อนเร้น หรือ ในปาก ไม่ได้หมายความว่าส่วนของร่างกายบริเวณนั้นสัมผัสกับเชื้อมาก่อน การเกิดตุ่มหนองของผู้ป่วยฝีดาษลิงสามารถเกิดได้ในหลายส่วนของร่างกาย 

 

หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรง หรือ ผ่านทางละอองฝอยที่มีไวรัสเจือปนอยู่ 

 

เซลล์บริเวณนั้นจะสามารถเพิ่มจำนวนไวรัสได้บ้างแต่เป็นปริมาณที่น้อยจนไม่สามารถตรวจวัดได้ 

 

ไวรัสที่ได้รับเข้ามาจะถูกส่งไปที่ต่อมน้ำเหลือง และ อวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต และ ม้าม ทางกระแสเลือด 

เป็นช่วงแรกที่ไวรัสอยู่ในกระแสเลือด (primary viremia) ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณไวรัสมีไม่มาก 

 

เพราะไวรัสไม่ได้เพิ่มจำนวนในกระแสเลือดจึงตรวจพบไวรัสได้ยาก เป็นช่วงที่เราเรียกว่า Incubation period หรือ ระยะฟักตัว 

 

กินเวลาเฉลี่ยประมาณ 7-9 วัน และ อาจยาวถึง 17 วัน เนื่องจากระยะนี้ปริมาณไวรัสในร่างกายมีน้อยมาก 

 

ฝีดาษลิงติดต่อยังไง อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร

 

ร่างกายไม่มีอาการใดๆ จึงเชื่อว่า "ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ใครได้"

 

หลังจากที่ไวรัสส่งต่อผ่านทางกระแสเลือดไปยังต่อมน้ำเหลือง ม้าม ตับ หรือ ไต ไวรัสจะเริ่มมีการเพิ่มจำนวนของอนุภาคมากขึ้น 

 

ซึ่งร่างกายโดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มจับสัญญาณกระบวนการดังกล่าวได้ ร่างกายจะเริ่มมีการต่อต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัสเหล่านั้น 

 

ด้วยอาการต่างๆ เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดท้อง ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต 

 

ซึ่งระยะนี้จะเป็นระยะที่เรียกว่า Prodomal period กินเวลาประมาณ 3-4 วัน 
และเนื่องจากไวรัสมีการเพิ่มปริมาณขึ้นแล้ว มีโอกาสที่จะตรวจวัดได้จากตัวอย่างเช่น เลือด น้ำลาย และ เชื่อว่าปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้นเป็นระยะที่ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้

เมื่อไวรัสมีปริมาณมากขึ้น ไวรัสจะส่งผ่านกระแสเลือดอีกครั้ง (secondary viremia) ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าครั้งแรกมาก 

 

และไวรัสสามารถส่งผ่านกระแสเลือดไปที่ส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผิวหนัง เชื่อว่าไวรัสสามารถติดเชื้อที่เซลล์ของหลอดเลือดในผิวหนังส่วนหนังแท้ (Dermis) ทำให้เกิดความเสียหายของเซลล์หลอดเลือด และการอักเสบเกิดขึ้น 

 

และแพร่ไปต่อที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ทำให้มีอาการของตุ่มหนองเกิดขึ้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่ไวรัสมีการเพิ่มจำนวนอยู่เป็นปริมาณมาก 

 

จึงเป็นแหล่งของไวรัสที่สามารถแพร่กระจายต่อ ระยะที่มีตุ่มแผลเกิดขึ้นเรียกว่า Rash period ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ 

 

โดยลักษณะของตุ่มแผลก็แบ่งไประยะๆได้ตามลักษณะของแผลและอาการ แต่เชื่อว่าไวรัสจะหมดไปจากแผลเมื่อแผลหายสนิทแล้วหลังจากระยะ Scabs 

 

จะเห็นชัดว่า การเกิดตุ่มหนองบนผิวหนังไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่จุดแรกที่ร่างกายรับเชื้อเข้ามา 

 

ทำไมไวรัสถึงไปที่จุดต่างๆของร่างกาย ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนทางวิทยาศาสตร์