เปิดโมเดล GPO in Hospital รพ.ชุมพร ลดสต็อกยาได้เกือบ 10 ล้านบาท

10 มิ.ย. 2568 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2568 | 07:38 น.

ปลัด สธ. เผย รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ประสบความสำเร็จนำระบบ "GPO in Hospital" และหุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติมาใช้ ช่วยประหยัดได้เกือบ 10 ล้านเตรียมขยายเป็นต้นแบบทั่วประเทศ

10 มิถุนายน 2568 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร มีการพัฒนารูปแบบใหม่ในการบริหารจัดการคลังยาในโรงพยาบาล โดยทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับองค์การเภสัชกรรม ในการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล หรือ "GPO in the hospital"

โดยให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงาน ทำให้โรงพยาบาลลดการสต็อกยาคงคลังจาก 1.5 เดือน เป็นสต็อกหน้างานพร้อมใช้ คือ สั่งซื้อยาทุก 7 วัน คิดเป็นมูลค่าสต็อกยาคงคลังที่ลดได้ในปีงบประมาณ 2567 (21 มีนาคม - 30 กันยายน 2567) จำนวน 3,553,465.99 บาท

ส่วนปีงบประมาณ 2568 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 - 31 พฤษภาคม 2568 ลดมูลค่าสต็อกยาคงคลังได้ 6,241,867.12 บาท และจำนวนยาคงคลังยังเป็นปัจจุบัน สินค้าหมุนเวียนเร็วทำให้ไม่มีรายการยาหมดอายุ ระยะเวลารอคอยสินค้าลดลงจากเดิม 7-14 วัน เหลือเพียง 1-2 วัน ซึ่งหลังจากครบระยะดำเนินการ จะให้มีการสรุปผลพร้อมปรับปรุงแนวทางเพื่อขยายใช้ครอบคลุมต่อไป

เปิดโมเดล GPO in Hospital รพ.ชุมพร ลดสต็อกยาได้เกือบ 10 ล้านบาท

ด้าน พญ.ปัทมพันธ์ อนันตาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลมีคลังยาทั้งหมด 857 รายการ เริ่มดำเนินการ "GPO in the hospital" เฟสที่ 1 ช่วง 18 มีนาคม 2567 - 31 มีนาคม 2568 มีรายการยานำร่องทั้งที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมและบริษัทอื่น 16% ขณะนี้อยู่ในเฟสที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2568 ได้ขยายรายการที่องค์การเภสัชกรรมบริหารคลังเพิ่มเป็น 34%

ส่วนเฟสที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม - 30 กันยายน 2569 จะขยายรายการเป็น 88% ทั้งนี้ เตรียมขยายความร่วมมือ GPO in the hospital กับโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดชุมพรและใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลระนอง เพื่อเพิ่มปริมาณยาที่องค์การเภสัชกรรมบริหารจัดการ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับบริษัทยาคู่ค้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารยาในภาพรวมของจังหวัด

เปิดโมเดล GPO in Hospital รพ.ชุมพร ลดสต็อกยาได้เกือบ 10 ล้านบาท

คาดหวังว่า โรงพยาบาลชุมพรจะเป็นต้นแบบที่ดีและนำไปสู่รูปแบบใหม่ในการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์โดยหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ (outsourced   pharmacy) 100% ทั้งด้านบริหารจัดการยาและบริหารจัดการคน ทำให้มีเภสัชกรดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังพัฒนาระบบบริหารและจัดยาอัตโนมัติแบบครบวงจร หรือหุ่นยนต์จัดยา สำหรับผู้ป่วยนอก ซึ่งจะลดระยะเวลารอคอยยาจาก 40 นาที เหลือเพียง  15 นาที ลดการสำรองยา สามารถตรวจสอบสถานะยาได้แบบ real time ลดความคลาดเคลื่อนในการจัดยา ตรวจสอบและจ่ายยา เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมยาเสพติด และลดการใช้กำลังคน ทำให้เภสัชกรมีเวลาในการดูแลให้คำแนะนำด้านยาแก่ผู้รับบริการมากขึ้นด้วย

เปิดโมเดล GPO in Hospital รพ.ชุมพร ลดสต็อกยาได้เกือบ 10 ล้านบาท