อาการแพ้ "แป้งดินสอพอง" ควรรักษายังไง ความเสี่ยงแบบไหนต้องพบแพทย์

15 เม.ย. 2568 | 06:32 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2568 | 06:58 น.

สังเกตตัวเองหลังจากเล่นน้ำ-เล่นแป้ง ช่วงสงกรานต์ 2568 มีอาการแพ้หรือไม่ โดยเฉพาะอาการแพ้ "แป้งดินสอพอง" อาจเสี่ยงติดเชื้อโรค

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า แป้งดินสอพองมี pH ประมาณ 8-9 ซึ่งจัดว่าเป็นด่างอ่อน ในผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือมีภาวะภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวจะไวต่อค่าความเป็นด่างมากกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัส

แป้งบางชนิดมีการผสมสีหรือกลิ่นเพื่อเพิ่มความน่าใช้ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้อาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ยิ่งในกิจกรรมที่แป้งสัมผัสกับเหงื่อ แสงแดด หรือแผลเปิด ก็ยิ่งเสี่ยงต่ออาการแพ้ โดยมีอาการแพ้ ดังนี้ 

ลักษณะอาการแพ้ที่พบบ่อย

  • ผื่นแดง คัน หรือแสบผิว
  • ผิวหนังบวม มีตุ่มน้ำ หรือผิวลอก
  • ผิวแห้งตกสะเก็ดในบางราย
  • รู้สึกร้อนผ่าวบริเวณที่สัมผัสแป้ง
  • ในรายที่แพ้รุนแรง อาจมีอาการหายใจติดขัด น้ำมูกไหล หรือมีไข้ร่วมด้วย (พบได้น้อย)

การดูแลรักษาเบื้องต้น

  • หยุดใช้แป้งทันที และล้างผิวบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน
  • ประคบเย็น เพื่อลดอาการแสบ คัน หรือบวม
  • ทายาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น Hydrocortisone 1% เพื่อลดการอักเสบของผิว
  • หลีกเลี่ยงการเกา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำเติม

หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน

  • ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด
  • แพทย์อาจสั่งยากลุ่มต้าน หรือยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หากมีอาการแพ้ที่กว้างหรือมีผื่นขึ้นหลายจุด
  • หากพบว่าแป้งที่ใช้มีการปนเปื้อน ควรเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อยืนยันสารก่อภูมิแพ้

วิธีป้องกันอาการแพ้ "แป้งดินสอพอง"

  • ช้ แป้งดินสอพองที่ผ่านการสะตุ (ฆ่าเชื้อด้วยความร้อน) และได้รับรองจาก อย.
  • หลีกเลี่ยงการใช้แป้งร่วมกับคนอื่น หรือใช้ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก
  • ทดสอบโดย ทาแป้งเล็กน้อยบนท้องแขน แล้วรอดูอาการ 24 ชั่วโมงก่อนใช้จริง
  • หลีกเลี่ยงการใช้บนใบหน้า รอบดวงตา และผิวหนังที่มีบาดแผล