กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีมติตัดงบซื้อเครื่องบินรบ F-35A 2 ลำ 7,400 ล้านบาท

26 ก.ค. 2565 | 04:52 น.

กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีมติตัดงบซื้อเครื่องบินรบ F-35A 2 ลำ วงเงิน 7,400 ล้านบาทของกองทัพอากาศ ระบุขาดความชัดเจนในรายละเอียด ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ควรนำงบไปช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

วันนี้(วันที่26 กรกฎาคม 2565) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร  เผยว่าวานนี้อนุกรรมการคุรุภัณฑ์ฯ ได้มีการพิจารณางบประมาณปี 2566 ของกระทรวงกลาโหม 

โดยได้พิจารณางบประมาณของ 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณของกองทัพอากาศ ที่มีการขอซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์รุ่นใหม่ล่าสุด รุ่น F-35A จำนวน 2 ลำ รวมมูลค่า 7,400 ล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติตัดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A ออกจากรายการงบประมาณ ปี 2566

 

กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีมติตัดงบซื้อเครื่องบินรบ F-35A 2 ลำ  7,400 ล้านบาท

เนื่องจากกองทัพอากาศยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า สภาคองเกรสของสหรัฐฯจะขายให้กับประเทศไทยหรือไม่ และขั้นตอนในการหารือและดำเนินการจัดซื้อเครื่องบิบรบลำดังกล่าว ต้องใช้เวลานานถึง 20 เดือน 


คณะอนุกรรมาธิการ ครุภัณฑ์ฯ จึงมองว่า อย่าเพิ่งนำงบประมาณ ปี 2566 ไปใช้ในส่วนนี้ ควรนำงบฯในส่วนนี้ เอาไปช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อน เพราะการจัดซื้อเครื่องบินรบไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้

 

กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีมติตัดงบซื้อเครื่องบินรบ F-35A 2 ลำ  7,400 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ว่า การจัดซื้อเครื่องบิน F-35 ของกองทัพอากาศนั้น ยืนยันว่าในของเดิมกองทัพอากาศได้ตั้งงบประมาณในการจัดหาเครื่องบินทดแทน

 

โดยการตั้งงบในปี 2561 แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเป็นเครื่องบินของประเทศไทย แต่หลังจากนั้น กองทัพอากาศ ได้มีการพัฒนาแผนการจัดหาที่มีความชัดเจน โดยการเสนอซื้อเครื่องบินจะต้องมีงบประมาณรองรับเพื่อเป็นหลักประกัน

 

ส่วนกระบวนการจัดซื้อที่จะต้องผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐฯนั้น เป็นเรื่องของสหรัฐฯที่ต้องดำเนินการ ในส่วนของเราแค่ขอสนับสนุน และแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการเครื่องบินที่ทันสมัย ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯในการดำเนินการเร่งรัดให้อย่างไร และทางกองทัพมีแผนรองรับอยู่แล้ว หากการดำเนินการล้าช้า หรือไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้