ยอดโควิดวันนี้ไทยล่าสุดรวมatk ติดเชื้อกว่า 3.8 หมื่นราย

28 มี.ค. 2565 | 04:17 น.

ยอดโควิดวันนี้ไทยล่าสุดรวมatk ติดเชื้อกว่า 3.8 หมื่นราย ปอดอักเสบเพิ่ม 17.34% หมอธีระเผยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่ม 31.32%

ยอดโควิดวันนี้ไทยล่าสุดรวมatk ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)   

 

ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

  • 24,635

 

  • ATK 14,200

 

  • รวม 38,835

 

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1464 คน เป็น 1,718 คน เพิ่มขึ้น 17.34%

 

ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 514 คน เป็น 675 คน เพิ่มขึ้น 31.32%

 

จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 0.56% และมากกว่าสองสัปดาห์ก่อน 2.79% 

 

ถือเป็นแนวโน้มของการติดเชื้อรายวันที่สูงกว่า 2 สัปดาห์ก่อน ติดต่อกันเป็นวันที่ 4 

"ฐานประชากรของไทยที่ยังไม่ได้วัคซีนมีจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้คนที่ได้เข็มกระตุ้นมีเพียง 33.3% ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อเรื่องติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิต มากกว่าต่างประเทศ การจ้ำตามย่างก้าวนโยบายเสรีการใช้ชีวิต ค้าขายท่องเที่ยวเดินทาง โดยเกราะป้องกันไม่เข้มแข็งพอ ทั้งด้านชนิดและความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ก็จะมีโอกาสนำไปสู่ความยากลำบากในอนาคต รวมถึงภาระเรื่อง Long COVID" 

 

หมอธีระ ยังโพสต์ด้วยว่า 

 

อัพเดตงานวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ BA.2

 

ยอดโควิดวันนี้ไทยล่าสุดรวมatk ติดเชื้อกว่า 3.8 หมื่นราย

 

Lentini A และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในประเทศสวีเดน ใน medRxiv เมื่อวานนี้ 27 มีนาคม 2565

 

พบว่า คนที่ติดเชื้อ Omicron สายพันธุ์ BA.2 นั้นจะมีปริมาณไวรัสในช่องคอ มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ถึง 2 เท่า
 

นั่นจึงเป็นหลักฐานอธิบายปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญการกลับมาระบาดซ้ำมากขึ้นของ Omicron BA.2 ซึ่งตอนนี้เป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว 
ยิ่งปริมาณไวรัสเยอะ ยิ่งมีโอกาสแพร่ได้มาก

 

ทั้งนี้ผลการศึกษาของสวีเดนนี้ชี้ให้เห็นปริมาณไวรัสในช่องคอ ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนบน จึงทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย ไม่ว่าจะจากการพบปะพูดคุยคลุกคลีใกล้ชิด หรือแชร์ของกินและอุปกรณ์ภาชนะที่ใช้กินดื่ม รวมถึงบุหรี่และอื่นๆ

 

ในขณะเดียวกัน ทาง UK HSA ก็ได้ออกตารางสรุปเกี่ยวกับความรู้ที่มีขณะนี้เรื่องสายพันธุ์ BA.2 ดังนี้

 

หนึ่ง สามารถจับกับตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดีกว่า BA.1 ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายสมรรถนะการติดเชื้อแพร่เชื้อที่มากกว่าเดิม

 

สอง อัตราการติดเชื้อไปยังผู้อื่น (secondary attack rate) สูงกว่า BA.1

 

สาม ระยะเวลานับจากวันแรกที่คนที่ติดเชื้อคนแรกมีอาการ ไปยังคนที่รับเชื้อมีอาการ (serial interval) สั้นกว่า BA.1

 

แม้ขณะนี้ข้อมูลเท่าที่มี จะมีแนวโน้มว่า BA.2 มีความรุนแรงไม่ต่างจาก BA.1 แต่ด้วยสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม จำนวนเคสที่มากขึ้นก็จะส่งผลต่อจำนวนการป่วยหรือเสียชีวิตที่อาจมากขึ้นได้