กว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่แสดงอาการ ทำให้ยากต่อการระมัดระวัง เพราะกว่าจะรู้ตัวก็ติดเข้าให้แล้ว หนำซ้ำอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปแพร่กระจายต่อโดยไม่รู้ตัว การตรวจหาเชื้อเป็นระยะๆ และหมั่นสังเกตตัวเองจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวด
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยวานนี้ (9 ม.ค.) ว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มากกว่าครึ่ง “ไม่มีอาการ” โดยในผู้ป่วยติดเชื้อ 100 รายแรกนั้น ไม่มีอาการถึง 59 ราย มีอาการ 41 ราย โดยในจำนวนผู้ที่มีอาการนั้น อาการที่พบบ่อย มี 8 อาการที่พบมากที่สุด คือ
- ไอ 54%
- เจ็บคอ 37%
- มีไข้ 29%
- ปวดกล้ามเนื้อ 15%
- มีน้ำมูก 12%
- ปวดศีรษะ 10%
- หายใจลำบาก 5%
- ได้กลิ่นลดลง 2%
ดังนั้น ประชาชนควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง เพราะหากติดเชื้อแล้วอาจมีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ ทำให้อาจไม่ได้ระมัดระวังและกลายเป็นพาหะนำเชื้อไปติดผู้อื่นได้ หากผู้ที่ติดเชื้อต่อเป็นผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิต้านทานต่ำ เช่นผู้สูงวัย เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นอยู่ ก็อาจมีอาการหนักหรือต้องเข้าโรงพยาบาลได้ เพราะในต่างประเทศก็มีกรณีผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการหนักต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และกรณีที่เสียชีวิตขณะติดเชื้อโอมิครอนก็มีเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรประมาท
องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ได้ออกโรงเตือนแล้วว่า ไม่ควรประมาทเชื้อไวรัสโอมิครอน เพราะแม้ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนดูจะมีความรุนแรงน้อยกว่าไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า แต่ไม่ควรมองว่าเชื้อดังกล่าวจะอาการไม่รุนแรง เพราะยังคงต้องมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้เนื่องจากข้อมูลที่มีส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนอายุน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่
ข้อพึงระวังของโอมิครอนที่เปรียบเสมือนภัยเงียบก็คือ เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และยังทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วจำนวนไม่น้อยในหลายประเทศรวมทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล และเกาหลีใต้ (อ่านเพิ่มเติม: เกาหลีใต้พบเคสผู้ป่วย “โอมิครอน” เสียชีวิต 2 รายแรก และ 5 ประเทศยืนยันผู้เสียชีวิตจาก “โอมิครอน” จนถึงตอนนี้ มีที่ไหนบ้าง)