ไทยรับมือโอมิครอนได้ 1.85 แสนรายพร้อมกัน หมอเฉลิมชัยแนะระดมฉีดเข็ม 3 ให้ไว

17 ธ.ค. 2564 | 03:53 น.

ไทยรับมือโอมิครอนได้ 1.85 แสนรายพร้อมกัน หมอเฉลิมชัยแนะระดมฉีดเข็ม 3 โดยเร็ว เพื่อให้ระบบสุขภาพรองรับไวรัสโอมมิครอนในจำนวนที่เหมาะสมได้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

ระบบสุขภาพไทยสามารถรับมือโอมิครอน (Omicron)ได้ 1.85 แสนรายพร้อมกัน โดยที่ปัจจุบันรับอยู่ 0.47 แสนราย
จากสถานการณ์ความคืบหน้าการระบาดของไวรัสโอมิครอน ที่ได้ระบาดไปทั่วโลกประมาณ 80 ประเทศ จาก 220 ประเทศหรือเกือบครึ่งโลกแล้ว ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน
ซึ่งนับเป็นการระบาดที่รวดเร็วมากที่สุด นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสทุกสายพันธุ์มา
ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น สายพันธุ์อัลฟา และแม้กระทั่งสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดจนเป็นสายพันธุ์หลักของโลกอยู่ในปัจจุบัน
ไวรัสโอมิครอนระบาดเร็วกว่าไวรัสเดลตาอยู่ 2-5 เท่า ทำให้เชื่อได้ว่า ในระยะเวลาอีกเพียง 1-3 เดือน โอมิครอนก็คงจะระบาดไปครบทุกประเทศ และกลายเป็นสายพันธุ์หลักในแต่ละประเทศต่อไป
 

จึงเป็นความจำเป็น ที่จะต้องยอมรับกันว่า ในที่สุดทุกประเทศก็จะมีผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลัก
ซึ่งจะประกอบไปด้วยผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย ปานกลาง และอาการมาก
ระบบสุขภาพที่ไทยเตรียมไว้รองรับคือ ในกรณีอาการน้อยจะใช้การแยกกักตัวที่บ้าน ( HI : Home Isolation และ CI : Community Isolation)
อาการปานกลาง จะดูแลรักษาที่โรงพยาบาลสนาม
และอาการมาก จะรักษาตัวในโรงพยาบาลหลัก
การสำรวจศักยภาพหรือความพร้อมของระบบสุขภาพ ในการรองรับผู้ติดเชื้ออาการระดับต่างๆ จึงเป็นความจำเป็นที่สำคัญมาก

ระบบสุขภาพไทยรับมือโอมมิครอนได้ 1.85 แสนราย

ลองมาสำรวจดูศักยภาพความสามารถของระบบสุขภาพไทยกันดู
1.ศักยภาพที่จะรองรับผู้ติดเชื้อโควิดทั้งระบบ ที่เคยทำได้ในอดีตคือรองรับ 185,009 ราย โดยที่ปัจจุบัน ทั้งระบบดูแลผู้ติดเชื้ออยู่ 47,731 ราย คิดเป็น 25.80%
2.ระบบสุขภาพจึงสามารถรองรับเพิ่มได้อีก 137,278 ราย คิดเป็น 74.20% หรือรับเพิ่มได้จากปัจจุบันอีกสามเท่าตัว

3.ถ้าลงไปดูในรายละเอียดของระบบสุขภาพ ที่จะรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการแตกต่างกัน
โดยเปรียบเทียบจากที่เคยรับได้สูงสุด ที่รองรับอยู่ปัจจุบัน และทำให้จำนวนเตียงเหลือที่จะรองรับได้ในอนาคต จะพบว่า
โรงพยาบาลหลัก
เคยรับได้ 45,271 ราย
ปัจจุบันรับอยู่ 21,000 ราย
สามารถรับเพิ่มได้อีก 23,518 ราย
โรงพยาบาลสนาม
เคยรับได้ถึง 75,659 ราย
ปัจจุบันรับอยู่ 19,875 ราย
สามารถรับเพิ่มได้อีก 55,784 ราย
แยกกักที่บ้าน (CI/HI)
เคยรับได้ถึง 64,079 ราย

ระบบสุขภาพไทยรับมือโอมิครอนได้ 1.85 แสนราย
ขณะนี้รับอยู่ 6103 ราย
สามารถรับเพิ่มได้อีก 57,976 ราย
ผู้ป่วยอาการหนัก
เคยรับได้ 4917 เตียง
ขณะนี้รับอยู่ 1000 เตียง
สามารถรับเพิ่มได้ 3917 เตียง
ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ
เคยรับได้ 1040 เตียง
ขณะนี้รับอยู่ 272 เตียง
สามารถรับเพิ่มได้ 768 เตียง
จากการดูสถิติดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่าระบบสุขภาพของไทยในขณะนี้ อยู่ในระดับที่ใช้ไปหนึ่งในสี่ หรือ 25% ของอัตราสูงสุด ( แต่ในระดับอัตราสูงสุดนั้น สร้างความยากลำบากให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก )
กำลังสำรองที่จะรองรับได้คือ รับเพิ่มได้อีกสามเท่าตัว ซึ่งพอที่จะรับมือไวรัสโอมมิครอนที่จะระบาดเข้ามาในช่วงแรกได้
แต่ถ้าการระบาดกว้างขวางมากกว่าที่เดลตาเคยระบาดในช่วงพีคสูงสุดที่ผ่านมา ก็จะประสบปัญหาได้เช่นกัน
การเร่งฉีดวัคซีนให้ครบเข็มที่ 2 และระดมฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยเร็วตลอดจนการรณรงค์ให้ทุกคนมีวินัย
จะทำให้ระบบสุขภาพของเราสามารถรองรับไวรัสโอมิครอนในจำนวนที่เหมาะสมได้