โควิดสายพันธุ์โอไมครอน หมอยง เปิด 10 คำถามเร่งด่วนที่ต้องตอบ

29 พ.ย. 2564 | 08:05 น.

โควิดสายพันธุ์โอไมครอน หมอยงเปิด 10 คำถามที่ต้องตอบ พร้อมชี้การแพร่กระจายของโรคไม่น่าจะน้อยกว่าเดลตา ยันยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีน

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า  โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron

 

 

ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสนใจมากกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ทั้งนี้เพราะการกลายพันธุ์เฉพาะในส่วนหนามแหลม สามารถเก็บจาก การกลายพันธุ์ที่เกิดในสายพันธุ์แอลฟา เบต้า และเดลตา มาแล้ว ยังเพิ่มตำแหน่งการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 30 ตำแหน่ง  ดังแสดงในรูป 
อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องตอบคำถามขณะนี้คือ

 

1 ไวรัสนี้ติดง่ายแพร่กระจายง่ายหรือไม่
จากการดูพันธุกรรมไวรัสนี้ พัฒนาเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่กระจายง่ายอยู่แล้ว อย่างน้อยการแพร่กระจายของโรค ก็ไม่น่าจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา 

2 ความรุนแรงของโรคโควิด-19  
จากข้อมูล ที่ได้มาจากแอฟริกาใต้เบื้องต้น ในหลายครอบครัว พบว่าสายพันธุ์นี้มีอาการไม่มาก ทั้งในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วและไม่ได้รับวัคซีน โดยธรรมชาติของไวรัสที่แพร่กระจายง่าย ไวรัสเองก็ต้องการมีชีวิตอยู่ยาวนาน หรือแพร่พันธุ์ได้ยาวนาน ในการศึกษาในอดีตสำหรับไวรัสตัวอื่น ที่มีการถ่ายทอดลูกหลานมายาวนาน หรือการเพาะเลี้ยงจากรุ่นต่อรุ่นไปยาวๆ จะพบว่าความรุนแรงจะลดน้อยลง ในอดีตการทำวัคซีนจึงใช้วิธีการเพราะเลี้ยงไปเรื่อยๆ 30-40 ครั้ง ก็จะได้ไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ลง แล้วเอามาทำวัคซีนเช่นการทำวัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อเป็น 

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับไวรัสตัวนี้ยังใหม่เกินไป ที่จะบอกว่า อาการของโรคลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น จะต้องดูจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ผลการรักษา อัตราการเสียชีวิต ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล เปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ เช่นสายพันธุ์ เดลตา

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน

3 การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตรวจหาพันธุกรรมในการวินิจฉัยที่เรียกว่า RT-PCR ยังใช้ได้ดีอยู่หรือไม่
แต่จากการที่ได้พิจารณาตามรหัสพันธุกรรม อย่างน้อยการตรวจทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่จะใช้ N gene อย่างน้อย 1 ยีนส์  ในตำแหน่งของ N gene เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างคงที่ ไม่มีผลกับการตรวจ แต่อาจจะมีผลต่อการตรวจในยีน RdRp ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบที่ใช้กันอยู่ 
ที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์ ที่ทำอยู่ขณะนี้  เมื่อนำมาเปรียบเทียบ ตามรหัสพันธุกรรม ก็พบว่ายังสามารถใช้ได้ดี ส่วนของบริษัทต่างๆ ก็คงต้องมีการตรวจสอบโดยเฉพาะในส่วนของยีนอื่นที่ไม่ใช่ N ยีนส์

4 การศึกษาตำแหน่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงบนหนามแหลม
มีความน่าสนใจมาก ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น  สิ่งที่จะต้องศึกษาอย่างยิ่งก็คือจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดที่ใช้สไปรท์เพียงตัวเดียวลดลงหรือไม่ เช่นไวรัส Vector และ mRNA การตอบสนองต่อ T และ B เซลล์เป็นอย่างไร ต้องมีการศึกษาอย่างเร่งด่วน
5 การเตรียมตัวในการพัฒนา ทั้งวัคซีน และ การรักษา
แต่เดิมคิดว่าวัคซีนในเจนเนอเรชั่นที่ 2  จะต้องเป็นสายพันธุ์ Beta แต่ต่อมากลับพบว่าสายพันธุ์เบต้าสู้สายพันธุ์ Delta ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไม่ได้เลย 
สายพันธุ์เดลต้าหลบหลีกภูมิต้านทานที่ใช้อยู่เดิมที่เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นไม่มาก ดังนั้นวัคซีนที่ใช้อยู่จึงสามารถที่จะใช้ได้กับสายพันธุ์เดลตา วัคซีนไม่มีการคิดที่จะเปลี่ยนสายพันธุ์ แต่ขณะนี้เมื่อเป็นสายพันธุ์ omicron คงต้องรอการศึกษา รวมทั้งประสิทธิภาพของ monoclonal antibodies ที่วางจำหน่ายแล้ว และยาที่วางแผนในการรักษา 
6 การสื่อสารทางด้านสังคม
ขณะนี้มีการตื่นตัวกันอย่างมาก ดังนั้นข้อมูลที่ให้กับประชาชนทั่วไป จะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ใช้ความจริง เหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าความรู้สึก ในการแพร่กระจายข่าวออกไป ในบางครั้งมีผลกระทบทางจิตใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข่าวที่ไม่เป็นความจริง และการ bully ในสังคม ไม่ได้ช่วยอะไรเลยต่อภาพรวม

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน
7 การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และการถอดรหัสพันธุกรรม
ในภาวะเช่นนี้เราต้องการเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และการทดลองมาตอบคำถามทั้งหมด การถอดรหัสพันธุกรรมจะต้องดำเนินการต่อไปและเพิ่มจำนวนขึ้น ให้ได้เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง สำหรับประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน เกือบ 2 ปีมีการถอดรหัสพันธุกรรมไปทั้งตัว ประมาณ 6,000 ตัว ถือว่าไม่มากถ้าเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยถึง 2 ล้านคน  
ขณะนี้การถอดรหัสพันธุกรรมหลัก จะอยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์ที่ทำได้เป็นจำนวนมาก ในสถาบันโรงเรียนแพทย์เป็นส่วนเสริม สำหรับที่ศูนย์ จะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวเพียงเดือนละ 30 ตัว และถอดส่วนของสไปรท์ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การพัฒนาการตรวจจำเพาะหาสายพันธุ์เลยซึ่งทำได้เร็วมาก ก็ได้พัฒนามาโดยตลอด การตรวจหาสายพันธุ์สามารถทำได้ตั้งแต่ตรวจหาจำเพาะ ตรวจหาตำแหน่งที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม กับการถอดรหัสทั้งตัว ที่ศูนย์ทำมาตลอดในการเฝ้าระวังในประเทศไทย
8 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นถ้าหลบหลีกภูมิต้านทาน
ก็จะทำให้ลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่ไม่ใช่ว่าวัคซีนจะไม่ได้ประสิทธิภาพเลย เช่นวัคซีนเคยได้ประสิทธิภาพ 90%  สายพันธุ์ใหม่อาจจะลดลงมาเหลือ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำ ให้ได้มากที่สุด และทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ไวรัสนี้ไม่หมดไปอย่างแน่นอน ถ้าทุกคนมีภูมิต้านทาน ถึงแม้จะเป็นบางส่วนก็จะลดความรุนแรงของโรคลง ลดการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิต จะทำให้มองดูว่าการติดเชื้อนี้เหมือนกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป
9 การเฝ้าระวังด้วยการเดินทาง ที่ผ่านมาเรารู้อยู่แล้วว่าถ้าเดินทางทางอากาศเรามีมาตรการในการดูแลอย่างดี ในอดีตไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ G หรือสายพันธุ์อังกฤษสายพันธุ์เดลตา เข้าสู่ประเทศไทยด้วยการเดินเข้ามาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเดินมาทางฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกของประเทศไทย หรืออาจจะว่ายน้ำมาก็ได้ ส่วนใหญ่จะไม่บินมา เพราะเรามีมาตรการที่เข้มงวดอยู่แล้ว
10 ในภาวะที่มีโรคระบาดทุกคนจะต้องช่วยกัน
ทุกคนจะต้องมีระเบียบวินัย  เคารพในกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขวางกฎเกณฑ์ไว้ รวมทั้งปฏิบัติตาม และสุขอนามัยจะต้องเข้มงวดเช่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย กำหนดระยะห่างยังคงต้องยึดอย่างเคร่งครัด
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,753 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,082,703 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,165 ราย กำลังรักษา 77,811 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,985,595 ราย