อัพเดทโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ถูกจัดชั้นอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน เช็กเลย

27 พ.ย. 2564 | 05:38 น.

หมอธีระอัพเดทข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ระบุ WHO จัดให้เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวที่ 5 ของโลก ชี้วิธี RT-PCR ยังสามารถตรวจได้

รายงานข่าวระบุว่า  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
Update โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529...
1. องค์การอนามัยโลกประกาศจัดให้ B.1.1.529 เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) เป็นตัวที่ 5 ในขณะนี้ต่อจากอัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลตา
2. ตั้งชื่อว่า "Omicron" 
3. โดยปกติแล้ว WHO จะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล VOC ก็ต่อเมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งคือ มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้มากขึ้นกว่าเดิมหรือมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีความสามารถที่จะแพร่ระบาดอย่างมากได้ (detrimental change in COVID-19 epidemiology), ติดเชื้อแล้วรุนแรงมากขึ้นหรือเปลี่ยนลักษณะอาการทางคลินิกไปจากเดิม, หรือเป็นเชื้อที่มีหลักฐานยืนยันว่าทำให้ลดทอนประสิทธิภาพมาตรการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจวินิจฉัย การป้องกันด้วยวัคซีน หรือการรักษาก็ตาม
B.1.1.529 หรือ Omicron นี้ถูกจัดเป็น VOC เพราะข้อมูลที่มีตอนนี้นั้นชัดเจนเรื่องทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากได้

4. Omicron นี้ ได้รับการรายงานครั้งแรกในประเทศบอทสวานา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 และพบในประเทศแอฟริกาใต้ในอีกไม่กี่วันถัดมา ต่อมาพบที่ประเทศฮ่องกง และเมื่อวันก่อนก็มีการรายงานว่าพบในอิสราเอลและเบลเยี่ยมด้วย การระบาดในแอฟริกาใต้นั้นมีการกระจายไปทั่วทุกจังหวัด และมีอัตราการตรวจพบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าวิตก และคาดว่าว่าอาจมีการกระจายไปประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาและทวีปอื่นๆ ทางองค์การอนามัยโลกจึงเตือนให้ประเทศต่างๆ เฝ้าระวัง และส่งรายงานการตรวจพบตามกลไกที่กำหนดไว้

Update โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529
5. การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ตรวจโควิด-19 นั้นยังสามารถตรวจได้ โดยจะมีลักษณะของการหายไปของ S-gene ที่เรียกว่า S-gene target failure หรือ S-gene drop out ดังนั้นศักยภาพของระบบการตรวจ RT-PCR ของแต่ละประเทศที่จะรองรับปริมาณการตรวจยามมีระบาดรุนแรงขึ้นจึงสำคัญมาก ไม่ใช่หันไปกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วหันไปใช้ ATK โดยไม่ได้เพิ่มศักยภาพระบบ RT-PCR 
 

6. ข้อมูลจาก Jeffrey Barrett ชี้ให้เห็นว่า Omicron นี้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะหนามตรงเปลือกนอกของไวรัสมากถึง 32 ตำแหน่ง โดยหลายตำแหน่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดปัญหา เช่น สีแดง มีอยู่ถึง 9 แห่งที่มีลักษณะเหมือนกับไวรัสกลายพันธุ์ VOC เดิมที่เราเคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นอัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า 
ตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวมีผลต่อการลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันจากวัคซีน การเพิ่มศักยภาพในการแพร่เชื้อและติดเชื้อ ฯลฯ ในขณะที่สีอื่นๆ นั้น จำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อดูผลของการเปลี่ยนแปลงต่อไป
7. คาดว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ จะมีผลการศึกษาเชิงลึกว่า Omicron จะส่งผลอย่างไรบ้างกับเรื่องประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน รวมถึงความสามารถในการแพร่เชื้อติดเชื้อ โอกาสการติดเชื้อซ้ำ และอื่นๆ
ทั้งนี้ล่าสุดทางบริษัทวัคซีน เช่น โมเดอร์นา ก็ได้ออกมาประกาศว่ากำลังเร่งพัฒนาวัคซีนที่จำเพาะกับสายพันธุ์ Omicron นี้ด้วย
ย้ำเตือนกันทุกวันว่า ไทยเราตอนนี้การระบาดยังสูงมาก และกระจายไปทั่ว ดังที่เห็นในอันดับโลกทุกวัน
ฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ไม่ว่าจะฉีดแล้วหรือยังไม่ครบหรือยังไม่ฉีด ขอให้ตระหนักว่าจะมีโอกาสติดเชื้อได้หากไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด และป่วยได้ตายได้ แพร่ให้คนใกล้ชิดในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นในสังคมได้
ใส่หน้ากากสำคัญมาก เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
สองเรื่องนี้จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง ทำอย่างเป็นกิจวัตร ทั้งประชาชนทั่วไป รวมถึงนายจ้าง ลูกจ้าง และลูกค้าทุกคน ไม่งั้นหากระบาดหนักขึ้นกว่านี้ ผลกระทบจะเกิดขึ้นหนักกว่าที่เป็นมา ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม  6,073 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64)   2,072,096 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย หายป่วย 6,538 ราย กำลังรักษา 79,780 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,973,076 ราย