โควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ส่งผลกระทบอย่างไร เช็กเลย!

26 พ.ย. 2564 | 03:26 น.

หมอเฉลิมชัยเผยโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 เปลี่ยนแปลงตำแหน่งมากถึง 32 แห่งที่ส่วนหนาม อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ระบุฉีดวัคซีนไขว้ได้ประโยชน์มากกว่า

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ต้องจับตามอง !! ไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ล่าสุด เปลี่ยนแปลงตำแหน่งมากถึง 32 แห่งที่ส่วนหนาม อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้
มีรายงานข่าวล่าสุดว่า ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า B.1.1.529 และองค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม VUM : Variant Under Monitoring ซึ่งอยู่
ในลำดับถัดจาก VOC : Variant of Concern และ VOI : Variant of Interest
เหตุที่ไวรัสดังกล่าว สร้างความวิตกกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์คือ พบว่าไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ (Mutate) มากถึง 32 ตำแหน่ง และเป็นในส่วนหนามหรือเอสโปรตีน (Spike protein)ด้วย
 

ซึ่งวัคซีนเกือบทุกตัว (ยกเว้นวัคซีนเชื้อตาย เช่น Sinovac และ Sinopharm) จะได้รับผลกระทบจากการที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนาม
การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งหนาม จะส่งผลกระทบหลายประการ คือ
1.ความสามารถในการเข้าเซลล์ของไวรัส
2.การแพร่ระบาดของไวรัส
3.ระบบเซลล์ภูมิคุ้มกันที่จะโจมตีไวรัส ทำงานลำบากมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงกังวลเสมอ เวลาพบไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนหนาม และยิ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นหลายตำแหน่ง เช่น ในกรณีนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากถึง 32 ตำแหน่ง ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยง ที่รูปร่างหน้าตาของหนามจะเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้วัคซีนจดจำไม่ได้จึงอาจละเลย หรือลดประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัสได้

จับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่
หมอเฉลิมชัยระบุต่อไปว่่า ไวรัส B.1.1.529 ดังกล่าว ค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศบอสวานา (Botswana) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 3 ราย และสามวันถัดมา ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 พบเพิ่มในแอฟริกาใต้อีก 6 ราย ขณะนี้พบรวม 100 ราย และที่สำคัญคือ ได้มีหนึ่งรายพบที่ฮ่องกง โดยในรายที่ฮ่องกงนี้ เป็นผู้ชายวัย 36 ปี

ก่อนออกเดินทางจากฮ่องกงไปแอฟริกาใต้ มีผลตรวจเป็นลบ อยู่ที่แอฟริกาใต้ในช่วงวันที่ 22 ตุลาคมถึง 11 พฤศจิกายน 2564 และก่อนเดินทางกลับมาฮ่องกง ก็ตรวจอีกครั้งพบว่าเป็นลบ
โชคดีที่ทางฮ่องกง มีมาตรการกักตัวไว้ก่อน และในวันที่ 13 พฤศจิกายน ก็ได้รับผลตรวจพบว่าเป็นบวก
Dr.Tom Peacock นักไวรัสวิทยาจากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า การกลายพันธุ์มากตำแหน่ง ทำให้เป็นที่น่าห่วงกังวลจริงๆ หวังว่าจะไม่รุนแรงมากนัก
Professor R.Gupta ศาสตราจารย์ทางจุลชีววิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์บอกว่า ใน 32 ตำแหน่งนั้น มีอย่างน้อย 2 ตำแหน่ง ส่งผลกระทบ ทำให้เพิ่มความสามารถในการติดเชื้อของไวรัส และลดการจดจำของระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสด้วยการกลายพันธุ์ของไวรัสมากมายหลายตำแหน่ง ในการพบครั้งเดียว น่าจะมาจากผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ ซึ่งทำให้เกิดมีการติดเชื้อเรื้อรังอยู่ในตนเอง
องค์การอนามัยโลกจึงจัดให้อยู่ใน VUM ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป

ไวรัสกลายพันธุ์ใหม่เปลี่ยนแปลงตำแหน่งมากถึง 32 แห่งที่ส่วนหนาม
ข้อมูลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่จะต้องระมัดระวังเรื่องการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศที่พบไวรัสดังกล่าวแล้ว คือ แอฟริกาใต้ ฮ่องกง และบอสวานา รวมทั้งควรจะระมัดระวัง เร่งเข้มงวดทำการตรวจสอบ หรือกักตัวผู้ที่จะเดินทางเข้ามา ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อกรณีดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่หลุดรอดเข้ามาได้
นอกจากนั้นแล้ว การฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย (SV,SP) ไขว้กับวัคซีนอื่น เช่น ไวรัสเป็นพาหะ (AZ) หรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (PZ,MN) ก็จะมีประโยชน์มากทำให้ในร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถจดจำไวรัสทั้งตัวจากวัคซีนเชื้อตาย และมีระบบภูมิคุ้มกันที่สูงต่อส่วนหนามของไวรัสจากวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ
เวลาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงของส่วนหนาม จะได้ยังพอมีระบบภูมิคุ้มกันที่จะจดจำไวรัสและสามารถเข้าต่อสู้ได้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม  6,559 ราย 
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,066,023 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 64 ราย หายป่วย 6,875 ราย กำลังรักษา 80,277 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,966,538 ราย