28วัน“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”สารตั้งต้น"พร้อม"อย่างไรให้ท่องเที่ยวไทย“รอด”

29 ก.ค. 2564 | 13:08 น.

Thailand Survival Post Covid “พร้อม” อย่างไรให้ท่องเที่ยวไทย “รอด” 28 วัน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”สารตั้งต้นเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

จากผลกระทบของโควิด-19 ฉุดให้การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก จากปี62 ที่ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.9 ล้านคนสร้างรายได้ 1.9 ล้านบาท พอเกิดโควิดในปี63 มีนักท่องเที่ยวเหลืออยู่แค่ 6.7 ล้านคน มีรายได้อยู่ที่ 3.32 แสนล้านบาทลดลง82.63%

 

ส่วนเมื่อเดือนม.ค.-พ.ค.2564 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพียง 3.47 หมื่นคน ลดลง99.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี63 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.69 ล้านคน

 

ดังนั้นเนชั่น จึงได้จัดสัมมนา Thailand Survival Post Covid   ในหัวข้อ “พร้อม” อย่างไรให้ท่องเที่ยวไทย “รอด” ผ่านระบบZOOM

 

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า 28 วันของการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว 12,366 คน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในช่วงม.ค.-พ.ค.64 ที่อยู่ที่3.4หมื่นคน ในเวลาไม่ถึงเดือนในพื้นที่เดียว เราได้เกือบครึ่งแล้ว ส่วนยอดจองโรงแรมช่วงก.ค.-ก.ย.64อยู่ที่292,632 คืนแล้ว

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร


โดยเดือนก.ค.อยู่ที่เกือบ 2 แสนคืน เดือนส.ค.อาจชลอตัวไปบ้างจากปัจจัยต่างๆ อย่างการติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และนโยบายต้นทางของนักท่องเที่ยวนั้นๆ ซึ่งททท.จะเน้นย้ำเรื่องการสื่อสารในเรื่องของซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง ที่แยกภูเก็ตออกจากภาพรวมของประเทศไทย โดยเราต้องรักษาป้อมปราการภูเก็ตให้ได้ เพื่อเชื่อมโยงการเปิดพื้นที่อื่นๆต่อไปที่จะเกิดขึ้น

 

สำหรับการติดเชื้อในภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในสถานที่กักตัวSQ และALQ รวมถึงการนำคนติดเชื้อกลับมารักษาในภูมิลำเนา การติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อของคนไทย การติดเชื้อของนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีไม่มาก และเมื่อดูจากปริมาณครองเตียงในภูเก็ตที่ยังว่างอยู่ถึง70% และการฉีดวัคซีนในภูเก็ตเกือบ90%ในเข็มแรก และเข็ม2 อยู่ที่70% ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่

 

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์วันนี้ก็ยังเดินหน้าต่อแน่นอน และในเดือนส.ค.นี้ก็จะมีสายการบินเปิดทำการบินจากต่างประเทศเข้าภูเก็ตอีก 4 สายการบิน คือ ไทยเวียตเจ็ท คาเธ่ย์แปซิฟิก โอมานแอร์ และกัลฟ์แอร์

 

ส่วนการเปิดในแต่ละพื้นที่อื่นๆที่จะตามก็อาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการหารือในพื้นที่นั้นๆ อย่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวถ้าเข้ามาแล้วตรวจเชื้อมีผลเป็นลบก็สามารถเที่ยวในภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว และในระหว่างที่อยู่ในภูเก็ต 14 วันก็ต้องสว๊อปเทสต์โควิด 3 ครั้ง

สมุยพลัส

 

ขณะที่เกาะสมุย  อย่างโครงการ “สมุยพลัส” ในช่วง 3 วันแรกนักท่องเที่ยวก็ยังต้องกักตัวอยู่ภายในโรงแรมก่อน หากผลตรวจโควิดเป็นลบวันที่ 4 ก็จะออกเดินทางเที่ยวในพื้นที่ที่กำหนด(Sealed Route)ในสมุย เป็นต้น  ต่อไปในอนาคตอันใกล้ก็จะเชื่อมจากภูเก็ต เข้ามาเที่ยวเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จ.กระบี่ และเขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา
 

อนาคตก็จะไปภาคเหนืออย่างบางพื้นที่ในเชียงใหม่ บางพื้นที่ในชลบุรี ซึ่งโมเดลก็จะขั้นกับภาคส่วนในพื้นที่นั้นๆว่าจะเสนอมาเป็นอย่างไร เพราะขึ้นกับหลายปัจจัย  ซึ่งหลักๆมี 4 เรื่องได้แก่

 

1.แผนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ต้องเกิน70% เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทันก่อนเปิดพื้นที่นำร่องต่างๆ

 

2.แผนเตรียมความพร้อมพื้นที่ บริหารความเสี่ยง เพราะไม่มีอะไรแน่นอน เช่นเกิดพบอัตราติดเชื่อสูง จะรีวิวหรือมีมาตรการเรื่องไหนก่อนหลังตามลำดับ

 

3.แผนพัฒนาเมือง ทุกจังหวัดเมื่อเปิดเมืองแล้วไม่ควรเหมือนเดิม อะไรเป็นเพ้นท์พ้อยท์หรือจุดที่นักท่องเที่ยวไม่พอใจในอดีต ควรต้องถูกแก้ไขหรือพัฒนา

 

4.แผนการตลาด ททท.เราพร้อมทำงานร่วมกับเอกชน และสำนักงานในต่างประเทศ ในการทำตลาด ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็อยากมาเที่ยวในที่ปลอดภัยมีการฉีดวัคซีนแล้ว และเที่ยวบินมีการเดินทางเข้ามาได้ ทั้งบินตรงหรือการต่อเครื่องเข้ามา

28วัน“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”สารตั้งต้น"พร้อม"อย่างไรให้ท่องเที่ยวไทย“รอด”

ส่วนการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มัล อยากให้เราคิดบวกในทุกวิกฤตมีโอกาส  ที่ควรเน้นใน 4D ได้แก่

 

1.DEMAND  คือการรับฟังเสียงลูกค้าและคนทำงานร่วมกับเรา การขับเคลื่อนต้องใช้เสียงของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งในปี62 เราอาจหล่อสวยเลือกได้ แต่วันนี้ เขามองหาคนงามงดจากจิตใจ ต้องดูว่าเขาหาอะไร เขาฉีดวีคซีนแล้ว เขาก็มองหาแหล่งท่องเที่ยวที่คนในพื้นที่นั้นๆมีการฉีดวัคซีน ที่เขาจะมั่นใจเดินทาง กระแสเมื่อก่อนคนอาจจะจองนานๆเพื่อให้ได้ข้อเสนอดีๆแต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นการจองแบบเรียลไทม์บุ๊กกิ่ง เช่น เขาต้องรอก่อนว่าประเทศเขาอนุญาติให้เดินทางไหม ทุกอย่างกระชับขึ้น ถ้าเขาบินลงมา 8 โมงในอดีตกว่าโรงแรมจะให้เช็คอินก็บ่าย2โมง แต่วันนี้ก็คงไม่ใช่แล้ว

 

2. DATA  ข้อมูลเดิมเปลี่ยนหมด อย่างภูเก็ต วันนี้นักท่องเที่ยวอิสราเอลก้าวขึ้นมาอยู่ในท็อป5 หรือแม้แต่ไทยที่หลุดจากWHITE LIST ของสหภาพยุโรป เราก็ต้องเช็คข้อมูลเชิงรุกว่าสถานการณ์ในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร กลับไปต้องกักตัวไหม อย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศษ เยอรมัน อิสราเอล นักท่องเที่ยวกลับไปก็ยังไม่มีการกักตัว เป็นต้น

 

3. Digital ดิจิทัลเป็นทุกมิติ เช่นถ้านักท่องเที่ยวไม่พกเงินสด ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวรับในเรื่องCASHLESS

 

4.Domestic  ที่ในขณะนี้คนไทยอาจจะอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ แต่ถ้าสถานการณ์การติดเชื้อลดลง การท่องเที่ยวในประเทศก็เป็นตลาดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ อย่างจีน เขาไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศ ให้เที่ยวในประเทศ ก็จะเห็นว่าตอนนี้คนเที่ยวในประเทศของจีนกลับมาเท่ากับปี2019 แล้ว และยังพบว่ามีวันพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ด้านนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นเรื่องที่เราวางแผนมาอย่างยาวนาน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราคุยกับเอเย่นต์ทั่วโลกก็พบว่าปัญหาของการเดินทางท่องเที่ยวคือการกักตัว

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม

ทำให้เราออกแบบไม่กักตัวเลย ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น จากการได้รับวัคซีน มีการสกรีนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องฉีดวัคซีนแล้ว จึงเกิดโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมา ซึ่งไม่เหมือนกับที่ไหนในโลก เพราะอย่างมัลดีฟส์ หรือชีเชลส์ เขาเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วและไม่ฉีดวัคซีน มีเพียงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศจากการฉีดวัคซีนของคนในพื้นที่เท่านั้น

 

พอเราเปิดภูเก็ต เราต้องการสร้างสมดุลระหว่างการเปิดเศรษฐกิจกับการควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ จึงมีหลักเกณฑ์อย่างการตรวจสว๊อป3ครั้งในช่วงที่นักท่องเที่ยวอยู่ในภูเก็ตครบ 14 วัน ซึ่งจากที่เดือนก.ค.มีเรื่องของการทดสอบระบบและการออกราชกิจจานุเบกษาที่ล่าช้า ก็ทำให้บุ๊กกิ้งในช่วงแรกเกิดการดีเลย์ไปบ้าง แต่เราคาดว่าจนถึงสิ้นเดือนก.ค.นี้ภูเก็ตน่าจะได้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่1.4-1.5 หมื่นคน

 

แม้จะเทียบไม่ได้จากในอดีตที่อยู่ที่ราว4.5หมื่นคน แต่การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็เหมือนเป็นหยดน้ำที่เข้ามา จากเมื่อก่อนที่แห้งผาด และจะทยอยมีแหล่งน้ำเข้ามาเพิ่มขึ้น คนในพื้นที่ก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะภูเก็ตกว่า95%ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก ถ้าภูเก็ตไปได้ก็เป็นสารตั้งต้น ในอีกหลายพื้นที่ที่จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆตามมา

 

ต้องยอมรับว่าภูเก็ตโชคดีที่เราทำความเข้าใจกับคู่ค้ามาตลอดว่าภูเก็ตอยู่ตรงไหน ไม่ได้ปะปนกับพื้นที่ในกรุงเทพฯหรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง และการติดเชื้อในภูเก็ตที่เพิ่มขึ้น เราก็จัดการควบคุมโรคอย่างเต็มที่

 

ทั้งอีกสิ่งที่กังวลคือการออกคำเตือนแนะนำไม่ให้เดินทางมา เราก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจ ดูแลไครซิสต่างๆให้ดีที่สุด ซึ่งแต่ละวันรายละเอียดเยอะมาก ททท.และสมาคมฯก็ต้องสื่อสารให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ เพราะการเปิดแม้เปิดมาได้ก็จริง แต่การเปิดก็ต้องมีมาตรการรัดกุมเพียงพอด้วยเช่นกัน
 

ส่วนความท้าทายขณะนี้แม้ภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อไม่มาก แต่การติดเชื้อของคนในพื้นที่ก็ถือว่าเป็นการติดเชื้อในภูเก็ต คนก็มองภาพรวมอยู่ ซึ่งทางจังหวัดก็อยู่ระหว่างยกระดับการควบคุมและต้องเอาตัวให้รอดก่อน ซึ่งทุกฝ่ายก็อยู่ระหว่างร่วมมือกันแก้ปัญหา วันนี้เราจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ทุกคนเห็นภาพเข้าใจวิกฤต ร่วมมือแก้ปัญหา

 

ถ้าเราผ่านไปได้ระยะยาวเราก็มีแผนในการต่อยอดภูเก็ตตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเรื่องของมารีนา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าในการเพิ่มรายได้ให้แก่ภูเก็ต