กางแผน "คุมเข้ม" สกัดโควิดชายแดนไทย-เมียนมา

08 ธ.ค. 2563 | 01:03 น.

กรณีมีผู้ลักลอบข้ามพรมแดนจากเมียนมา มายังประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติซึ่งพบว่ามาทั้งทางบกและทางน้ำนั้น ทำให้การสกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น รัฐบาลได้เตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้อย่างไรบ้าง

 

ไทย-เมียนมา มีแนวเขตชายแดนทางธรรมชาติยาวถึง 2,400 กม. นายกรัฐมนตรียอมรับว่า การลักลอบข้ามชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ ยังคงเป็นปัญหาที่ซ้ำเติม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จากการที่ผู้ลักลอบเข้ามาไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจเชื้อและกักตัวอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งการติดเชื้อในเมียนมาก็ยังคงพุ่งสูง แต่รัฐบาลก็ได้วางแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ไว้แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

จากเนื้อหารายการรูปแบบเล่าเรื่องในหัวข้อ "การรับมือกับ โควิด-19" ซึ่งเผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชั่นพอดแคสต์ไทยคู่ฟ้าเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามพรมแดนไทย-เมียนมา ซึ่งนำปัญหาโควิด-19 ตามมาด้วยนั้น เรื่องนี้ รัฐบาลได้วาง แนวทางแก้ไขปัญหา ไว้แล้ว คือ

 

แนวทางที่หนึ่ง ตามแนวชายแดน ได้สั่งการให้ ทหาร ตำรวจ และกองกำลังต่าง ๆ มีมาตรการสร้างเครื่องกีดขวางในระยะที่หนึ่ง และเพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในขั้นนี้ก็อาจจะมีการเล็ดลอดเข้ามาได้ 

แนวทางที่สอง คือ พื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย พื้นที่ตอนในเข้ามาที่จะต้องมีการสกัดกั้น ตั้งจุดสกัดต่าง ๆให้มีความพร้อมในการตรวจบุคคลเหล่านี้ที่จะเข้ามา

แนวทางที่สาม คือ ประชาชนในพื้นที่ต้องสังเกตคนที่เข้ามาในหมู่บ้าน แม้จะเป็นคนที่เคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แต่อย่าลืมว่าเขาไปทำงานที่ต่างประเทศ จึงขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ละเมิดหรือลักลอบเข้ามา หากมีความจำเป็นก็ต้องบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษ เพราะถือว่าไม่รับผิดชอบต่อคนอื่นและสังคมโดยรวม  นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประสานงานไปยังเมียนมาแล้ว ในการตรวจสอบคัดกรอง ช่วยกันสกัดกั้นช่องทางธรรมชาติทั้งฝั่งประเทศไทยและฝั่งเมียนมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมียนมาทะลุหลักแสนแล้ว

“นายกฯ” เข้ม สั่งจัดการขบวนการลักลอบพาคนข้ามแดน

แฉขบวนการลักลอบนำคนข้ามชายแดนจากท่าขี้เหล็ก โผล่ใช้ช่องทางแม่น้ำ โพสต์รับลูกค้าเอิกเกริก

 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวในช่วงหนึ่งว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาใช้ภาพถ่ายทางอากาศ หรือจากโดรน ดูว่าช่องทางใหม่ที่ใช้เข้ามามีช่องทางไหนอีกหรือไม่ เพื่อที่จะวางเครื่องกีดขวางและวางกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังกล่าวเตือนเกี่ยวกับบทลงโทษว่า ขบวนการลักลอบไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนเหล่านี้ จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย “อย่างหนัก” เพราะถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลักลอบพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทางช่องทางธรรมชาติ ถ้าหากพบว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หากใครมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหาร ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง

 

"มาตรการต่าง ๆที่ออกมาแล้วกำลังได้ผล มีคนจำนวนหนึ่งทำให้เกิดปัญหา เราต้องหาต้นตอปัญหานี้ให้เจอ และหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างไม่นิ่งนอนใจ และสถานการณ์โควิดปีหน้าจะดีขึ้น จากการติดตามเรื่องวัคซีน เรามีความหวังและคาดหวัง เราทำทุกอย่าง อย่างดีที่สุด ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนที่ทำหน้าที่อย่างหนัก ถ้าช่วยกันแบบนี้ แก้ปัญหากันได้หมดทุกเรื่อง"นายกฯกล่าว

 

ด้าน พล.ต.จักรพงษ์ จันทร์เพ็งเพ็ญ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กล่าวเพิ่มเติมเป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องแนวทางคุมเข้มบริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมาว่า ศปม.กวดขันตรวจตราพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มข้น โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ

 

1.พื้นที่ชายแดน เน้นตรวจตราพื้นที่ทางธรรมชาติ แต่เนื่องจากเขตชายแดนยาว 2,400 กม. จึงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น ใช้โดรนของกองทัพอากาศ ตรวจตรา ติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่ม วางเครื่องกีดขวาง เพื่อจำกัดพื้นที่การลักลอบเข้ามา ร่วมทั้งร่วมมือด้านการข่าวกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสกัดกั้นการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย

2.พื้นที่ชายแดนถึงพื้นที่ตอนใน เป็นการสนธิกำลังระหว่างตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร สกัดตามพื้นที่ที่คาดว่าจะลักลอบเข้าเมือง ตรวจค้นพาหนะที่ได้รับแจ้ง เป็นต้น

3.พื้นที่ตอนใน ซึ่งตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบ จัดชุดปฏิบัติการตรวจค้นสอบสวน สถานประกอบการ โรงงาน ที่มีคนต่างด้าวทำงาน หรือสถานที่ที่ได้รับแจ้งจากประชาชนว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ. รวมทั้งมีชุดปฏิบัติการในการให้คำแนะนำและช่วยเหลือประชาชน

 

ทั้งนี้หากประชาชนพบเบาะแส สามารถแจ้งมาได้ที่ สายด่วน 1138, 1559, 191