ซีอีโอ "ทีโอที-แคท" ภาระควบรวมธุรกิจแสนล้าน

23 ก.ย. 2561 | 05:28 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการควบรวม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท หลังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. มีมติให้ควบรวมและต้องส่งรายละเอียดให้ครบถ้วนภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

เมื่อรัฐบาลเปิดประเด็นควบรวมอีกครั้งหนึ่งน่าจะเกิดแรงต้านจากเหล่าพนักงานเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัท คือ ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับความคืบหน้าและแผนรับมือกับกระแสต้านที่จะเกิดขึ้น ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้


mp20-3403-a

ภารกิจหลังจากนี้
ดร.มนต์ชัย : ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่จะมาทำเรื่องการควบรวมกิจการ โดยมีท่านปลัดดีอีเป็นประธาน รวมถึงผู้แทนหน่วยงานราชการและเอกชนร่วมเป็นที่ปรึกษา และบอร์ดบริหารของแคทและทีโอที ซึ่งจะมาช่วยกำกับในเรื่องการจัดการกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ เนื่องจากเมื่อเรื่องต้องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะมีคำถามที่ต้องตอบ เช่น เมื่อควบรวมกันแล้วแผนธุรกิจจะเป็นอย่างไร การจัดการเรื่องคน หรือ ทรัพย์สินที่ซํ้าซ้อน ทางคณะทำงานก็จะช่วยวางกรอบหรือแนวทางให้

คณะทำงานก็ได้มีการประชุมกัน และได้มอบหมายให้ทีโอทีและแคทดำเนินการ 4 เรื่อง คือ 1.เรื่องของแผนธุรกิจ 2.เรื่องโครงสร้างบุคลากรและผลประโยชน์ตอบแทนแก่บุคลากร 3.เรื่องการจัดการทรัพย์สิน และ 4.เรื่องคดีความข้อพิพาทต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยให้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ 18 กันยายน 2561 ขณะที่ ทางทีโอทีและแคทก็ได้มีการตั้งคณะทำงานภายในขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกันและตอบคำถามของคณะทำงานที่ตั้งขึ้น

พ.อ.สรรพชัย : เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ก็ได้มีการประชุมและนำเสนอแบ็กกราวด์ที่มาของแคทและทีโอที ว่า ในปัจจุบัน ธุรกิจทำอะไรอยู่บ้างและมีทิศทางเป็นอย่างไร เรื่องของการคงสิทธิ เรื่องคลื่นความถี่หลังจากควบรวมแล้ว ซึ่งทางคณะทำงานก็ได้สอบถามทางสำนักงาน กสทช. ว่า จะมีความเห็นอย่างไรในเรื่องข้อพิพาทระหว่างแคท
กับทีโอทีและเติ้ดปาร์ตี้ที่เกี่ยวข้อง และได้มีการตกลงกันว่า จะมีการประชุมกันทุก 2 สัปดาห์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ข้อสรุปก่อนกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อนำเข้า คนร. ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนตามไทม์ไลน์


โครงสร้างธุรกิจ
ดร.มนต์ชัย : สำหรับโครงสร้างการบริหารนั้น คาดว่าจะออกมาเป็น BU (Business Unit) หรือ หน่วยธุรกิจ เพราะงานบางอย่างไม่สามารถทำกำไรได้ด้วยตัวเอง 100% การที่ต้องเป็น BU เพื่อให้วัดผลสำเร็จได้ว่า หลังจากเป็น BU แล้ว ในแต่ละธุรกิจหรือบริษัท ทำแล้วมีผลกำไรขาดทุนเป็นอย่างไร เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพ ส่วนสิ่งที่ออกมาในเชิงแข่งขันก็จะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำ

พ.อ.สรรพชัย : ในเรื่องของโครงสร้างการบริหารยังไม่ได้คุยกันชัดเจน แต่ว่าเมื่อเทียบเคียงธุรกิจแล้วเนี่ย โครงสร้างธุรกิจของทีโอทีและแคทในปัจจุบัน โครงสร้างมันเหมือนกันในแง่ของ BU จะเห็นว่า เหมือนกันทั้งในเรื่องของบรอดแบนด์ โมบาย พร็อพเพอร์ตี หรือ เรื่องของโทรคมนาคม ดิจิตอลเซอร์วิส


MP20-3403-2

ด้านบุคลากร
ดร.มนต์ชัย : หลังจากโครงสร้างชัดเจนแล้ว ต้องดูว่างานที่ทำกับบุคลากรเหมาะสมกันหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องทำ
ออกมาในรูปแบบของเอาต์ซอร์ซ โดยให้โอกาสกับพนักงานหรือบุคลากรที่เคยทำงานกับทีโอที ทั้งนี้ พนักงานของทีโอทีและแคทคงจะโอนไปเป็นพนักงานของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติฯ แต่มีความเป็นไปได้ว่า คนจะมากกว่างาน ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มการทำงาน โดยมองว่า เรื่องการ Early คงเป็นมาตรการสุดท้าย

ด้าน พ.อ. สรรพชัย กล่าวว่า เรื่องของบุคลากรเป็นที่ยอมรับกันว่า สุดท้ายผู้บริหารคงต้องลดลงครึ่งหนึ่ง ส่วนพนักงานสิทธิสภาพการจ้างงานยังคงเหมือนเดิม แต่พนักงานก็ต้องทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการมองหางานใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับด้วย


รับมือกระแสต่อต้านอย่างไร
ดร.มนต์ชัย : สำหรับข้อเสนอเรื่องการรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน เป็นความเห็นหลัก ๆ ที่มาจากของตัวแทนพนักงานหรือสหภาพ ซึ่งทางเดินอาจจะไม่เหมือนกันระหว่างแคทกับทีโอที แต่ว่าจุดหมายปลายทางเหมือนกัน คือ การรวมองค์กรเข้าด้วยกัน ผมคิดว่าคงไม่ได้เป็นปัญหาหรือจะมีการต่อต้านอะไร เพราะว่าพวกเราก็เสนอกันขึ้นไปเอง

พ.อ.สรรพชัย : เท่าที่พูดคุยกัน ถ้าเราทำตัวให้เป็นกลาง แล้วมองภาพของประเทศ พนักงานมีความเข้าใจ เพราะว่าทั้ง 2 องค์กร มีความเสี่ยงในเรื่องของคลื่นที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2568 ปัจจุบัน รายได้ 50% มาจากคลื่นความถี่ ถ้าถึงเวลานั้นแล้ว เรายังไม่มีการปรับตัว มันน่าจะทำให้เป็นภาระในอนาคต


ปัญหาข้อพิพาทที่เคยเกิดขึ้น
ดร.มนต์ชัย : ถ้าเป็นข้อพิพาทระหว่างทีโอทีกับเอกชน หรือแคทกับเอกชน ผมคิดว่า ข้อพิพาทนั้นยังคงอยู่ แต่ถ้าเป็นข้อพิพาทระหว่างทีโอทีกับแคท เมื่อคนฟ้องกับคนถูกฟ้องเป็นคนเดียวกัน ข้อพิพาทเหล่านี้ก็คงหายไปโดยหลักของกฎหมาย

พ.อ.สรรพชัย : จริง ๆ แล้ว ตาม พ.ร.บ.มหาชน ในการควบรวมสิทธิหน้าที่ มันตามไปที่องค์กรใหม่อยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร คดีระหว่างกันไม่มีปัญหา เพราะสุดท้ายเราก็ถือหุ้นร่วมกัน แต่คดีที่ต่อเนื่องไปถึงเอกชน อันนี้เราต้องดูเรื่องข้อกฎหมายที่เราต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาช่วยวิเคราะห์

สัมภาษณ์ หน้า 20 | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,403 ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว