ทีมอินเท็นติกคว้าสุดยอดสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์

30 ต.ค. 2560 | 09:22 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พนัส แอสเซมบลีย์ ร่วมกับ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ประกาศผลการประกวดโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 โครงการเพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) รายแรกของประเทศไทย ผลทีมอินเท็นติก จากผลงาน SILICA FOR LOGISTIC - Retail Inventory Software  ชนะเลิศประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร และโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่ประเทศเยอรมนี ขณะที่ทีม 360 Truck จากผลงาน 360 Truck, an online-logistics marketplace สำหรับบริษัทรถบรรทุกขนส่งในประเทศ ชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร โอกาสนี้ยังได้เปิดตัวกองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์หนุนส่งผู้ประกอบการ LogTech ไทยให้แจ้งเกิด และร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างจริงจังด้วย

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ริเริ่มดำเนินการโดยบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้นำตลาดในภาคธุรกิจขนส่ง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจสมัครร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก ทั้งประเภทนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไปที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ซึ่งทางคณะกรรมการได้คัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม LogTech Boot Camp พร้อมมอบคำแนะนำเพื่อให้ทุกทีมนำไปปรับปรุงผลงานและแผนธุรกิจเพื่อมานำเสนอผลงานแข่งขันในรอบพิชชิ่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ผลการประกวดปรากฎว่า ทีมอินเท็นติก จากผลงาน SILICA FOR LOGISTIC - Retail Inventory Software ชนะเลิศประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท ที่สอง คือ ทีม Jump up จากผลงาน KK Smart Bus ระบบการจัดการการเดินทางโดยรถขนส่งมวลชน ได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และที่สาม คือ ทีม HexSense จากผลงาน HexSense - Cold Chain สำหรับการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม ได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท โดยทั้ง 3 ทีมจะได้รับโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่ประเทศเยอรมนีด้วย

ขณะที่ประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 360 Truck โดยนิสิตปริญญาโททางการตลาด (MIM) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงาน 360 Truck, an online-logistics marketplace สำหรับบริษัทรถบรรทุกขนส่งในประเทศ รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ที่สอง คือ ทีม Smart Wheel โดยนักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยเกริก จากผลงาน Smart Wheel แนวคิดนวัตกรรมล้อรถที่ออกแบบมาเพื่อทุกสภาพพื้นผิวบนท้องถนน โดยยางของล้อรถแบบอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีนาโน และ ใช้ระบบสั่งการในรูปแบบของ IOT รับเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท และที่สาม คือ ทีม BPT โดยนักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยบูรพา จากผลงาน BPT อุปกรณ์จัดเก็บและการเคลื่อนย้ายสินค้าในคลังสินค้า รับเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท โดยทุกทีมทุกประเภทที่ชนะรางวัลจะได้รับโล่และเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันด้วย

นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ซึ่งเป็นเวทีประกวดแนวคิดธุรกิจและโครงการด้านธุรกิจโลจิสติกส์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ และการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น หุ่นยนต์ลำเลียงสินค้า ซอฟต์แวร์บริหารระบบสินค้าคงคลัง อากาศยานไร้คนขับสำหรับขนส่งสินค้า ระบบบริหารการขนส่งและเก็บรักษาสินค้าแบบ Cold Chain เป็นต้น

“สิ่งที่เราภูมิใจคือ นิสิตนักศึกษาไทย รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ที่เข้าร่วมประกวด ล้วนมีแนวคิดที่ล้ำหน้า ทันสมัย ไม่แพ้ต่างประเทศ แต่ละทีมต่างเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ โดยทุกทีมที่เข้าร่วมการประกวดมีโอกาสที่จะได้เจรจา ร่วมทุนทางธุรกิจด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของบริษัทในการสร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ที่จะมาช่วยกันผลักดันนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ให้เป็นไปได้จริงในเชิงธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม ภาคการขนส่งของประเทศให้แข็งแกร่ง พร้อมกันนี้ เพื่อวางรากฐานอนาคตของสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ พนัส แอสเซมบลีย์ฯ จึงได้เปิดตัวโครงการ PANUS Logistics Innovation Fund หรือ กองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อพิจารณาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการด้าน LogTech ทั้งที่มาจากเวทีการประกวดและผู้ประกอบการภายนอกในวันดังกล่าวด้วย” นายพนัส วัฒนชัย กล่าว