ตันจงแยกทางฟูโซ่ทรัค หันปั้นแบรนด์โฟตอน/จับมือพันธมิตรเสริมแกร่ง

28 ก.ย. 2559 | 05:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ตันจง กรุ๊ปเผย MFTBCบริษัทลูกฯเดมเลอร์ กรุ๊ปที่เยอรมนียึดแบรนด์ฟูโซ่ หวังบริหารเอง ระบุไม่หวั่นเดินหน้าปั้นแบรนด์โฟตอน เสริมทัพความแข็งแกร่งด้วยการจับมือพันธมิตร SCHWING Stetter จากเยอรมนี มั่นใจสิ้นปียอดขายในเครือเติบโตทุกแห่ง

แหล่งข่าวจากบริษัทฟูโซ่ ทรัค ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมบริษัท ตันจงกรุ๊ป จำกัด ได้สิทธิ์ในการประกอบและจำหน่ายรถบรรทุก-หัวลากแบรนด์ฟูโซ่ ทรัค ในไทย และมีระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะมีการต่อสัญญาออกไป เพราะบริษัท ตันจงฯ ได้มีการลงทุนสร้างโรงงานเพื่อขึ้นไลน์ประกอบ รวมถึงมีการทำตลาดและขยายเครือข่ายการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท Mitsubishi Fuso Truck and Bus Corporation ( MFTBC) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเดมเลอร์ กรุ๊ปที่ประเทศเยอรมนี ได้ตัดสินใจที่จะไม่ต่อสัญญา และมีการฟ้องศาลเพื่อห้ามให้บริษัท ตันจง กรุ๊ป ใช้เครื่องหมายทางการค้า รวมถึงเทคนิคโนว์ฮาวต่างๆและการบริการหลังการขาย ส่งผลให้การดำเนินงานของฟูโซ่ ทรัค ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในภาวะหยุดชะงัก เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องและคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

สำหรับฟูโซ่ ทรัค ที่บริหารงานผ่านตันจง กรุ๊ปในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามียอดขายสะสมประมาณ 8,000 คัน และเมื่อรวมกับประชากรรถของฟูโซ่ที่ขายไปก่อนหน้านั้นในตลาด มีประมาณ1.6 หมื่นคัน ส่วนสต๊อกของฟูโซ่ ทรัค ก่อนหน้านี้มีอยู่ประมาณ 1,200 คัน และตอนนี้เหลืออยู่ 600 คัน ด้านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายจากจุดเริ่มต้น 2 แห่ง ภายในระยะเวลา 6 ปีเพิ่มขึ้นมาเป็น 26 แห่ง ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดในปีแรก 2% และปีที่ผ่านมาทำได้ 6%

“ในเบื้องต้นเรายังดูแลลูกค้าเก่าอยู่ แต่หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร โดยความคืบหน้าหลังจากนี้คาดว่าทาง MFTBC จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากBOI เพื่อตั้งโรงงานประกอบในประเทศ เพราะหากนำเข้ามาจากฐานผลิตอื่นๆก็จะต้องเสียภาษีสูง ทำให้ราคาขายเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วไม่ได้เปรียบ อย่างไรก็ตามเราประเมินว่ากว่าเรื่องนี้จะเรียบร้อย และกว่าจะกลับมาสร้างภาพลักษณ์หรือทำตลาดใหม่อีกรอบน่าจะใช้เวลาอีก 2 - 3ปี ”

ด้านนายชาญชัย ทองดี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด กลุ่มตันจง กรุ๊ป เปิดเผยว่า แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีฟูโซ่ ทรัค แต่บริษัทฯยังมีแบรนด์รถยนต์ที่ดูแลไม่ว่าจะเป็น ซูบารุ ,โฟตอน,ฉางอัน,แมน และล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงที่จะร่วมมือกับแบรนด์ SCHWING Stetter จากเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตโม่ผสมปูนซีเมนต์และจักรกลที่เกี่ยวกับปูนซีเมนต์ชั้นนำของโลก

โดยบริษัทได้ทำการเปิดตัว SCHWING Stetter ด้วยการนำเข้าโม่ผสมปูนขนาด 6 ลบ.ม.และนำมาติดตั้งบนแชสซีย์รถโฟตอน รุ่น Hercules เครื่องยนต์ Cummins 330 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด1,410 นิวตัน-เมตร ที่ 1,200 รอบต่อนาที สนนราคาเริ่มต้น 2.69 ล้านบาท แต่ในช่วงเปิดตัวทำราคาพิเศษอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท ฟรีค่าแรงและค่าอะไหล่ตลอดการใช้งาน 1ปี หรือ 3 หมื่นกิโลเมตรแรก มูลค่า 5 หมื่นบาท และเงื่อนไขทางด้านการเงิน อาทิ ดาวน์ต่ำเริ่มต้น 4.8 หมื่นบาท ผ่อนนานสูงสุด 60 งวด หรือผ่อนวันละ 1,600 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 4 % และหากจองภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ฟรีเครื่องจ่ายจาระบีอัตโนมัติ 12 จุดมูลค่า 3 หมื่นบาท และรับประกันคุณภาพของแซสซีส์และโม่ผสมปูนตลอดอายุการใช้งาน 2 ปี ไม่จำกัดระยะทาง

“จุดเด่นของเราคือ มีการนำเข้า SCHWING Stetter มาจากโรงงานที่อินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทฯลูกที่เยอรมนี ทำการผลิตโม่ผสมปูนขนาด 3- 10 ลบ.ม.และส่งออกกลับไปยังเยอรมนี และยุโรป ส่วนโม่ผสมปูนขนาด 12-15 ลบ.ม.จะผลิตเพื่อจำหน่ายและส่งออกไปยังเยอรมนี ส่วนตลาดในไทยนำมาประกอบที่ โรงงาน TCMA ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยจะใช้เวลาผลิตและประกอบประมาณ 15 วัน ซึ่งถือว่ารวดเร็วกว่ากว่าแบรนด์อื่นๆ ที่จะต้องรอกว่า 1 เดือน นอกจากนั้นแล้วราคาจำหน่ายเทียบกับคู่แข่งแบรนด์ญี่ปุ่นพบว่าถูกกว่า 15 – 20 % โดยราคาของค่ายญี่ปุ่นเริ่มต้นที่ 3.2 ล้านบาท”

นายชาญชัย กล่าวต่อว่าแผนงานในอนาคตจะมีการนำเข้ามิกซ์เซอร์รุ่นต่างๆ รวมไปถึงรถคอนกรีตปั๊ม ,อุปกรณ์ยิงปูน เนื่องจากประเมินแล้วว่าความต้องการใช้รถโม่ปูนจะมีเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีตัวเลขรวมประมาณ 1,200 – 1,300 คัน จากปัจจุบันที่มีประมาณปีละ 1,000 คัน เพราะในปีหน้าโครงการต่างๆจากภาครัฐจะมีการเดินหน้า สำหรับเป้าหมายของบริษัทตั้งเป้าการขายไว้ที่ 15 -20 % หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 100 คัน

ส่วนในอนาคตนั้น กำลังพิจารณาที่จะนำแบรนด์รถใหญ่เข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ส่วนแบรนด์อื่น อาทิ โฟตอน ในส่วนของหัวลากหรือบรรทุกนั้น ผลิตเพื่อป้อนตลาดในไทยเท่านั้น คาดว่าในปีนี้จะมียอดขายประมาณ 150 คัน ส่วนแมน ก็มียอดขายที่ดี และมีการนำเข้าจากจีน ส่วนแผนการประกอบในประเทศไทยนั้นยังไม่มีเนื่องจากนำเข้าได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว ด้านฉางอัน ช่วงนี้อยู่ระหว่างเคลียร์สต๊อกเก่าที่มีอยู่และในปีหน้ามีแผนที่จะนำรถยนต์นั่งเข้ามาจำหน่าย

“ยอดขายของโฟตอนและรถโม่ผสมปูนในปีนี้คาดว่าจะทำยอดขายได้ 200 – 250 คัน ส่วนตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ รถบรรทุก รถหัวลาก ในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเมื่อดูจากยอดขายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามียอดรวมประมาณ 600 คัน ถือว่าแนวโน้มตลาดดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการก่อสร้างโครงการต่างๆของภาครัฐฯคาดว่าทั้งปียอดขายรวมของตลาดรถบรรทุก-หัวลากจะมีประมาณ 2. 5 – 3 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 2.6 – 2.7 หมื่นคัน ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559