ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ จะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากการรีบาวน์ของกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
รวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านกลับมามีชัดเจนมากขึ้น และเริ่มเป็นไปในในทิศทางที่ดี แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็อยากแนะนำให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลเชิงปัจจัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศประกอบการลงทุนร่วมด้วย เพราะความไม่แน่นอนในอนาคตก็ยังพอมีอยู่อีก
โดยมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการทำกำไร บจ. ขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกก็มีผลเชื่อมโยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและ บจ. แต่เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างเช่น การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระดับสูง
"ที่น่าสนใจ คือ สภาพคล่องโลกจะเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก ซึ่งมักจะเป็นผลดีต่อเงินทุนไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่ แต่อย่างไรก็ดีก็คงต้องดูด้วยว่าผู้ลงทุนจะมองว่าปัจจัยเหล่านั้นในแง่ไหน จะเป็นเชิงบวกหรือเป็นปัจจัยเชิงลบ ที่จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่ากัน"
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าตลาดทุนจะมีความมั่นคงได้จะต้องมีฐานผู้ลงทุนที่สมดุลกัน ทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน หรือนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่สมดุล ซึ่งขณะนี้ที่สังเกตมาระยะหนึ่งพบว่ามีการเพิ่มของนักลงทุนหลายกลุ่มมากขึ้น
ซึ่งการเติบโตของกลุ่มผู้ลงทุนอาจไม่เร็วเท่ากันหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตลาดหลัหทรัพย์ฯ ทำร่วมกันกับกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คือ การร่วมหาหนทางร่วมกัน จะทำอย่างไรให้ฐานผู้ลงทุนมีการเติบโตขึ้นในระดับที่เท่ากันทุกๆกลุ่ม หรือใกล้เคียงกัน
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภายในช่วงต้นเดือนก.ย.2567 หรือ 10 วันที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนได้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่กลับมามากขึ้น
ส่วนในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2567 นี้ คาดว่ามีโอกาสที่ฟันด์โฟลว์จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยหนุนจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง กำไร บจ. ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือน ส.ค.2567 SET Index ปิดที่ 1,359.07 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 SET Index ปรับลดลงเหลือเพียง 4.0% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ปรับมาอยู่ที่ 46,028 ล้านบาท ลดลง 21.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แต่ปรับเพิ่มขั้น 21.1% จากเดือนที่แล้ว ทำให้ 8 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 44,404 ล้านบาท ลดลง 22.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนส.ค 2567 อยู่ที่ระดับ 14.9 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.9 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.1 เท่า ในส่วนของอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนส.ค 2567 อยู่ที่ระดับ 3.50% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.16% อย่างไรก็ตาม ในเดือนส.ค 2567 ไม่มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET และ mai
สำหรับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในเดือนส.ค 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 498,404 สัญญา เพิ่มขึ้น 31.2% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 444,557 สัญญา ลดลง 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures
โดยนอกจากปัจจัยภายนอกที่เอื้อต่อการเติบโตของ SET Index แล้ว ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศยังมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน อาทิ การเมืองไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่รายงานออกมาเข้มแข็งกว่าที่นักวิเคราะห์คาด รวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 2/67 ที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอกที่เอื้อต่อการเติบโตของ SET Index แล้ว ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศยังมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน อาทิ การเมืองไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่รายงานออกมาเข้มแข็งกว่าที่นักวิเคราะห์คาด รวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 2/2567 ที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนไทยหันมาใช้การซื้อหุ้นคืนเป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการซื้อหุ้นคืนยังช่วยส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุนทราบว่าผู้บริหารมีความมั่นใจว่าราคาหุ้นในปัจจุบันถูกประเมินต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัทและกระตุ้นความต้องการซื้อหุ้นในตลาด
อีกทั้งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีสภาพคล่องไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุน Thai ESG และความชัดเจนในการออกขายกองทุนวายุภักษ์ 1 ที่มีการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ ซึ่งจะดึงดูดความสนใจผู้ลงทุนและสามารถช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นโดยรวมในตลาดทุน