นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการเข้าสู่ช่วงทยอยประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/2567 ของกลุ่มแบงก์ ทำให้ทางฝ่ายประเมินกำไรสุทธิรวมกลุ่มแบงก์ที่อยู่ในการวิเคราะห์ของทางฝ่าย ประกอบด้วย 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นต้น
โดยทางฝ่ายคาดการณ์กำไรสุทธิรวมกลุ่มแบงก์ข้างต้นอยู่ที่ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และจะยังคงกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในขณะเดียวกันคาดว่าจะเห็นคุณภาพสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/2567 ด้วย เนื่องจากต้นทุนสินเชื่อที่ลดลง
ทางฝ่ายพบว่าต้นทุนสินเชื่อ (Credit Cost) ลดลง สอดคล้องกับเป้าหมายทั้งปีของธนาคารเกือบทุกแห่ง ยกเว้น BBL ทั้งนี้ คาดว่า Credit Cost ทั้งอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/2567 จะอยู่ที่ระดับ 1.25% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 1.23% แต่ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ระดับ 1.40%
ขณะที่สินเชื่อกลุ่มแบงก์โดยรวมในช่วงไตรมาส 2/2567 คาดจะอยู่ที่ประมาณ 12,398 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนราว 1.4% และจากไตรมาสก่อนประมาณ 0.8% สะท้อนต่อความผ่อนคลายด้านคุณภาพลูกหนี้ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะเห็นคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ โดยมีปัจจัยมหภาคต่างๆ เข้ามาช่วยหนุนภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2567 กระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติจะช่วยหนุนกลุ่มแบงก์ จากการเพิ่มขึ้นของการซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย และการแข็งค่าของเงินบาท
ทางฝ่ายเห็นการถือครองหุ้นหลุ่มแบงก์ของนักลงทุนต่างชาติ (Foreigh Ownership) เพิ่มขึ้น ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนเม.ย.2567 อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายปรับประมาณการกำไรของกลุ่มแบงก์ในปี 2567-2569 เพิ่มขึ้น 5.2% 5.4% และ 6.6% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ทางฝ่ายคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2567 จะเป็นบวก หลักๆ เป็นผลมาจากมาตรการจากภาครัฐหลายอย่างที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหาภาค อาทิ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่คาดจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4/2567 และคาดจะส่งผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.6-1.2%, การเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับปี 2567 และ 2568, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท/วัน คาดมีผลบังคับใช้เดือน ต.ค.2567 และการขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำข้าราชการจาก 15,000 บาท เป็น 18,000 บาท/เดือน มีผลเดือน พ.ค. 2567
อีกทั้งยังมีอีก 2 ปัจจัยที่จะขับเคลื่อน GDP ไทย ได้แก่ การท่องเที่ยว ที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะบรรลุเป้าหมายที่ 35 ล้านคน และการส่งออก ที่คาดว่าจะฟื้นตัวและสิ้นสุดปี 2567 ด้วยอัตราการเติบโต 4.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ -1.5% ในขณะเดียวกันสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล
และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะช่วยกระตุ้นการเติบโต GDP ของประเทศไทย ทำให้ทางฝ่ายคาดว่าปัจจัยมหภาคเชิงบวกหลายประเด็นจะช่วยสนับสนุนแนวโน้ม GDP ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 นี้ และหนุนต่อกำไรของกลุ่มแบงก์ ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้มองว่าจะช่วยลดความกังวลกลุ่มแบงก์
แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 จะมีผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าธนาคารขนาดใหญ่จะสามารถบรรเทาผลกระทบได้ อีกทั้งจากปัจจัยมหภาคเชิงบวกจะช่วยทำให้ภาพความกังวลคลี่คลายและช่วยลดความกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์
โดยหากกระแสเงินทุนต่างประเทศมีการกระจายออกนอกตลาดหุ้นสหรัฐฯ คาดว่ากลุ่มแบงก์ไทยจะได้รับประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลเข้า เช่นเดียวกันกับ ราคาหุ้นของกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ ดังนั้น ทางฝ่ายจึงปรับเพิ่มคำแนะนำสำหรับกลุ่มแบงก์เป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) โดยมี Top Pick คือ BBL (ราคาเป้าหมาย 168.00 บาท), KBANK (ราคาเป้าหมาย 160.00 บาท) และ SCB (ราคาเป้าหมาย 132.00 บาท)