NER มองยอดขายไตรมาส 2 โตกว่า 1.14 แสนตัน จ่อออกโปรดักส์ใหม่ดันมาร์จิ้น

29 พ.ค. 2567 | 08:50 น.

NER ชูยอดขายไตรมาส 2/67 ดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ทำได้ 1.14 แสนตัน ขณะที่ราคาขายยังสูงต่อเนื่อง ตามราคายางที่ทรงตัวระดับสูง ชี้หากปีนี้ฝนชุก ผลผลิตน้ำยางเพิ่ม อาจพิจารณาปรับเป้าหมายยอดขายใหม่เพิ่ม ครึ่งหลังปีเล็งออกสินค้าใหม่ไฮมาร์จิ้น

KEY

POINTS

  • NER ยอดขายไตรมาส 2/67 โตไม่ต่ำกว่า 1.14 แสนตัน
  • NER ครึ่งหลังปี 67 ราคายางเข้าสมดุลระดับ 80 บาท/กิโลกรัม
  • NER เล็งอัพเป้ายอดขายใหม่หลังจบไตรมาส 2/67

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดขายยางพาราในช่วงไตรมาส 2/2567 คาดว่ายังคงทรงตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2567 ที่บริษัทมีปริมาณจำหน่ายแล้วที่ระดับ 114,619 ตัน แต่ในเรื่องของราคา ต้องยอมรับว่าราคาขายในช่วงไตรมาส 2/2567 นั้นสูงกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลการดำเนินงานมีการเติบโตที่ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

โดยมองว่าราคายางพาราเฉลี่ยที่เหมาะสมนั้น ควรอยู่ในช่วงตั้งแต่ 60 บาท/กิโลกรัม ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 บาท/กิโลกรัม จะเป็นผลดีทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ใช้ปลายทาง แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/2567 นี้ ราคายางพาราจะขยับขึ้นไปแตะที่เกือบ 90-95 บาท/กิโลกริม ในบางช่วง แต่บริษัทยังคงคาดว่าราคายางพาราเฉลี่ยในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะกลับมาอยู่ในจุดที่สมดุล คือ ไม่เกิน 80 บาท/กิโลกรัม สำหรับความต้องการใช้ยางพาราตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก ยังคงมีการเติบโตที่ดี และมากกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

นอกจากนี้ มองว่าจากสภาพอากาศของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากเอลนีโญ ไปสู่ลานีญา หรือเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับต้นยางพารา จะทำให้ปริมาณน้ำยางและคุณภาพของน้ำยางที่ได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2567 แต่อย่างไรก็ดี ต้องรอดูว่าในช่วงปลายไตรมาส 2/2567 ถึงต้นไตรมาส 3/2567 มีฝนตกมากน้อยแค่ไหน ต้องยอมรับว่าจากภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีผลกระทบต่อผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดลดลง กระทบต่อกำลังผลิตและยอดขายที่น้อยลงตามไปด้วย แต่เชื่อว่าครึ่งหลังปี 2567 จะดีขึ้น

ปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งรายเดิมและรายใหม่จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คำสั่งซื้อล่วงหน้าที่มีเต็มไปจนถึงเดือน มิถุนายน 2567 แล้ว ส่งผลให้กำลังการผลิตทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สะท้อนต่อแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิในไตรมาส 2/2567 จะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่ทำได้ระดับ 11.64% และ 6.93% ตามลำดับ ขณะเดียวกันในช่วงครึ่งหลังปีบริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้มาร์จิ้นที่สูง ทำให้คาดว่าจะเข้ามาหนุนให้อัตรากำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายเฉลี่ยทั้งปี 2567 นี้ ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท หรือมีปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ระดับกว่า 510,000 ตัน/ปี เพิ่มขึ้นจากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนประมาณ 10% จาก 497,053 ตัน/ปี อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าเมื่อจบไตรมาส 2/2567 อาจมีการพิจารณาปรับเป้าหมายการดำเนินงานใหม่ หากว่าปริมาณน้ำฝนดีกว่าที่คาด ผลผลิตน้ำยางออกมาได้เพิ่มขึ้น ก็อาจหนุนให้ยอดขายในปีนี้ขยายตัวขึ้นตาม

ด้านแผนการลงทุนในปี 2567 บริษัทจัดสรรงบประมาณไว้ที่ราว 1,700 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 ที่มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ที่จะแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 คาดว่าจะยังไม่มีการใช้งบลงทุนดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณยางพาราที่บริษัทรับซื้อมาได้ เพียงพอมากน้อยแค่ไหน และราคายางอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าซัพพลายยางพาราในตอนนี้ลดลงไปไม่น้อยจากเอลนีโญ