CHOW เซ็น MOU ติดตั้งโซลาร์เซลลให้กับเครือข่าย"TU"รวมกว่า 30 MW เสร็จปีนี้

12 ก.พ. 2567 | 00:49 น.

CHOW ยกระดับธุรกิจเข้าสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ เซ็น MOU กับ"ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป "พัฒนาและติดตั้งโครงการโซลาร์เซลลให้กับคู่ค้าของ TU ทั่วประเทศ ขนาดรวมกว่า 30 เมกะวัตต์ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU - Memorandum Of Understanding) กับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ  TU ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ที่มุ่งสร้าง "การมีสุขภาพที่
ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans" เพื่อพัฒนาและติดตั้งโครงการโซลาร์เซลล์ให้กับคู่ค้าของ"ไทยยูเนี่ยน" ทั่วประเทศ ขนาดรวมกันกว่า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประมาณ 10,000 ครัวเรือน
 

โครงการดังกล่าว เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environment, Social และ Governance) ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล เข้ามาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับธุรกิจเข้าสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยบริษัทฯ จะทำหน้าที่พัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ ให้กับเครือข่ายของไทยยูเนี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ของแต่ละแห่ง เพื่อให้การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บรรลุประโยชน์สูงสุดตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

ด้านนายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านความยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามกลยุทธ์ความยั่งยืน  SeaChange®2023 ซึ่งหนึ่งในพันธกิจหลักของกลยุทธ์ความยั่งยืนคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 และจะต้องลดให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 โดยการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ให้กับบริษัทคู่ค้าในประเทศไทยนั้น จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในภาพรวม

โดย MOU นี้จะช่วยให้บริษัทคู่ค้าสามารถเข้าถึงและจับต้องเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (โซ่ล่าเซลล์) ได้มากขึ้นผ่านระบบสัญญาแบบ PPA หรือ Power Purchase Agreement ซึ่งเป็นโมเดลพลังงานรูปแบบหนึ่ง คือบริษัทผู้ให้บริการจะเป็นผู้ลงทุนในอุปกรณ์ การติดตั้ง รวมถึงการดูแลรักษาระบบฯให้ฟรีทั้งหมด โดยบริษัทคู่ค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้จะจ่ายแค่ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซล่าเซลล์ตามระยะสัญญาต่อกันเพียงเท่านั้น โดยอัตราค่าไฟจะคิดต่ำกว่าการไฟฟ้า ดังนั้นความร่วมมือนี้ไม่เพียงแค่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพียงในห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทคู่ค้าประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และยังเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทคู่ค้าอีกด้วย

โครงการนี้จะติดตั้งโซล่าเซลล์ขนาดรวมกันกว่า 30 เมกะวัตต์ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยยกระดับบริษัทคู่ค้าและภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมาย

“เรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ และด้วยกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® ที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจของเรา เพื่อมุ่งมั่นผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกดีขึ้น พันธกิจที่ท้าทายขนาดนี้ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กร รวมไปถึงภาคประชาชน ที่จะช่วยกันทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง” นายอดัม กล่าว