หุ้น AOT ปิดตลาด (29พ.ย.66) ลบ 1.50 บาท มาร์เก็ตแคปวูบ 2.1 หมื่นล้าน

29 พ.ย. 2566 | 10:36 น.

ปัจจัยลบรุมเร้าหุ้น AOT ปิดตลาดวันนี้ (29พ.ย.66) ร่วง มาร์เก็ตแคปวูบ 2.1 หมื่นล้าน เหตุมติ ครม.ยกเลิกร้านค้าปลอดภาษีผู้โดยสารขาเข้า กระทบรายได้สัมปทานของ คิง เพาเวอร์

ราคา หุ้น AOT บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปิดตลาดวันนี้ (29 พ.ย. 2566) อยู่ที่ 59.00 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 2.48% มูลค่าการซื้อขาย 6,454.90 ล้านบาท จากราคาเปิดตลาดที่ 60.25 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 60.75 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 59.00 บาท

ราคาหุ้น AOT ที่ปรับลดลง 1.50 บาท ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป ของ AOT ลดลง 21,428.55 ล้านบาท จาก 864,284.85 ล้านบาท เหลือ 842,856.3 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ มองสาเหตุที่ราคาหุ้น AOT ปรับลดลง เป็นผลมาจาก 1 ใน 5 มาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ 28 พ.ย.) เพื่อมุ่งเป้าส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย คือ มาตรการที่ 3 การยกเลิกข้อเสนอผลิตภัณฑ์ปลอดภาษีสำหรับผู้โดยสารขาเข้านั้น จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นหลัก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อรายได้สัมปทานของ คิง เพาเวอร์ ที่มีต่อ AOT ซึ่งปัจจุบัน คิง เพาเวอร์ จ่ายเงินให้ AOT ตามยอดใช้จ่ายต่อหัวที่สนามบินของ AOT จำนวน 5 แห่ง (ทุกสนามบินยกเว้น DMK) สำหรับการขายสินค้าปลอดภาษี

การคำนวณการใช้จ่ายต่อหัวจะขึ้นอยู่กับพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่กำหนดให้กับ คิง เพาเวอร์ ตามมาตรการดังกล่าว การลดพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ คิง เพาเวอร์ อาจส่งผลให้ คิง เพาเวอร์ ขอแก้ไขสัญญา เพื่อสะท้อนถึงการลดลงของยอดขายที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว AOT จึงอาจได้รับผลกระทบต่อรายได้สัมปทาน

สำหรับขนาดของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มีข้อสังเกตว่า การใช้จ่ายปลอดภาษีของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่การเดินทางออกมากกว่าการมาถึง ดังนั้น จึงจำกัดข้อเสียบางประการของ AOT

ขณะที่คาดหวังว่า ผู้ค้าปลีกที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับที่ คิง เพาเวอร์ นำเสนอ จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลัก โดยเฉพาะผู้ค้าปลีกที่มีไวน์และวิสกี้หลากหลายประเภท (CPALL, CPAXT, BJC และ CRC) เครื่องสำอาง (CPN - ร้านเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้า) และของว่างที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว (CPALL, CPAXT, BJC และ CRC)

ล่าสุดมีรายงานว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิต คือ การลดยกเว้นภาษีดังกล่าวให้แก่ซัพพลายเออร์ (supplier) ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อในระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น พวกสินค้าฟุ่มเฟือย

อาทิ เครื่องสำอาง น้ำหอม กระเป๋า หรือซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้นำเข้าหรือผลิตสินค้าในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต อาทิ สุรา ยาสูบ ไพ่ เพื่อให้สามารถลดราคาสินดังกล่าวให้ถูกลง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซื้อสินค้าต่าง ๆ ในประเทศไทยมากขึ้น

กระทรวงการคลัง เห็นว่าการดำเนินมาตรการข้างต้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีจึงต้องมีการจัดทำประมาณการการสูญเสียที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งช่วยลดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศของคนไทย