"แอน จักรพงษ์" เปิดไทม์ไลน์ฟื้นฟู JKN ย้ำหากไม่ได้อนุมัติ ชัวร์ ! ปิดกิจการ

29 พ.ย. 2566 | 02:55 น.

JKN แจงขาดสภาพคล่องชำระหนี้ เพราะสินทรัพย์ 67% ไม่มีตัวตน แม้จะพยายามหาผู้ร่วมทุนและขาย กางไทม์ไลน์แนวทางแก้ เสนอบริษัทฯ ทำแผน คาดหลังศาลนัดไต่สวน ต้นม.ค.67 กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะเริ่มต้นปี 68 ย้ำชัดหากไม่ได้รับอนุมัติ ต้องปิดกิจการ - หุ้นเป็นศูนย์

นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN เปิดเผยว่า จากการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 กรณียื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 บริษัทฯ ได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) พร้อมได้สรุปสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

ที่มาของปัญหาในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้ซึ่งยังไม่ครบกําหนดไถ่ถอนจํานวน 7 ชุด รวม 3,360.20 ล้านบาท ต่อมาบริษัทฯ จัดการสภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน ทําให้บริษัทฯ ผิดนัดชําระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A การผ่อนผันการชําระหนี้ รวมถึงการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการชําระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ถือเป็นเหตุให้ผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ทั้ง 6 รุ่น นอกจากนี้ ยังถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย

ในการนี้ บริษัทฯ จึงมีความจําเป็นต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินใหม่ โดยจัดประเภทหนี้สินประเภทหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน เป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งจํานวน ณ 30 กันยายน 2566 ทําให้หนี้สิน หมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมาก ยิ่งทําให้บริษัทขาดสภาพคล่องจํานวนสูง

แนวทางแก้ไขปัญหา

บริษัทฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาการเงินมาช่วยทําแผน : ด้วยคําแนะนําของกรรมการจาก Morgan Stanley ที่เห็นว่าบริษัทฯ ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษาการเงินจากภายนอกที่มีประสบการณ์มาช่วยวางแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566

บริษัทฯ จึงได้แต่งตั้ง บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จํากัด (“KPMG”) ให้เป็นที่ปรึกษาการเงินของบริษัทฯ KPMG ได้นําเสนอตัวเลือกของการชําระคืนหุ้นกู้แก่ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งรวมไปถึงการนําเสนอ ตัวเลือกที่มีระยะเวลาการจ่ายชําระหนี้ที่อาจใช้เวลาถึง 8 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนใหม่

 

โดยมีความตั้งใจที่จะนําข้อเสนอแนะของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีต่อแผนการชําระหนี้หุ้นกู้มาสรุปในการประชุมตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 KPMG ได้สรุปความเห็นของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และนําเสนอตัวเลือกในการชําระเงินคืนให้แก่บริษัทฯ เพื่อให้คณะผู้บริหาร ตัดสินใจตามดุลยพินิจในลําดับต่อไป

บริษัทฯ ได้พยายามหาเงินมาชําระหุ้นกู้ : ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 บริษัทฯ ได้เข้าเจรจากับนักลงทุนจํานวน 3 กลุ่มเพื่อเพิ่มทุน รวมถึงการขายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน และหาแนวทางการทําธุรกิจต่าง ๆ โดยในเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับนักลงทุนต่าง ๆ กันตลอดทั้งเดือนแต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะหาเงินทุนมาชําระหุ้นกู้ได้ บริษัทฯ จึงมีความจําเป็นต้องยุติการเจรจาในวันที่ 30 ตุลาคม 2566

บริษัทฯ ขาดสภาพคล่องที่จะชําระหนี้สิน : จึงยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ : แม้ในงบการเงิน บริษัทฯ จะมีทรัพย์สินพอควร แต่ทรัพย์สินร้อยละ 67 ของทรัพย์สินทั้งหมดเป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ซึ่งไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินสดเพื่อชําระหนี้ได้ทันเวลาและในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจําหน่ายหุ้นกู้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ทาง KPMG ได้ร่วมกับบริษัทฯ ในการจัดการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการชําระคืนหุ้นกู้ โดยที่ประชุมเห็นว่า ผู้ถือหุ้นกู้มีแนวโน้มที่จะไม่ยินยอมการชําระคืนหนี้ยาวนานถึง 8 ปี แต่หากต้องการรับเงินคืนภายใน 3 ปี บริษัทฯ มีความเห็นว่าจะไม่สามารถดําเนินการตามแผนดังกล่าวได้  

เมื่อผลการประชุมเข้าเงื่อนไข บริษัทฯ จึงตัดสินใจยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางตามแผนที่ได้รับจากที่ปรึกษาการเงิน (โดยไม่ได้แจ้งที่ปรึกษาการเงินก่อนที่จะยื่นคําร้องฯ) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ตามที่ได้รับมติจากคณะกรรมการในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566โดยศาลล้มละลายกลางรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของบริษัทฯในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566และบริษัทฯ เข้าสู่สภาวะการพักชําระหนี้ทั้งหมดของบริษัท (Automatic Stay) ไป จนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดและเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่บริษัทฯ มีในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

\"แอน จักรพงษ์\" เปิดไทม์ไลน์ฟื้นฟู JKN ย้ำหากไม่ได้อนุมัติ ชัวร์ ! ปิดกิจการ ปัญหาและอุปสรรคที่อาจทําให้ไม่สามารถดําเนินการตามแผนได้ 

  • 1.ความร่วมมือจากเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการชําระหนี้ร่วมกัน
  • 2. ความสามารถในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจ จากธุรกิจ Content ไปเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เตรียมไว้
  • 3. การหาพันธมิตร นักลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน
  • 4. สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายในประเทศ

ผลที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัทฯ ไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

  • 1.ด้วยปริมาณหุ้นกู้ทั้งหมด หากเจ้าหนี้ทุกรายเรียกร้องบริษัทฯ ให้ชําระหนี้คืน บริษัทฯ จะไม่มีเงินสดเพียงพอในการดําเนินธุรกิจอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้า และบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • 2.บริษัทฯ อาจจะต้องปิดกิจการหรือถูกฟ้องร้องจนไม่สามารถดําเนินธุรกิจได้ต่อไป และล้มละลาย อันจะทําให้ทุกฝ่ายเสียหายอย่างมาก
  • 3.หุ้นของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีมูลค่า ทําให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบรวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • 4.หากบริษัทฯ ต้องปิดดําเนินกิจการหรือไม่สามารถดําเนินการต่อได้จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัทฯทุกคน

ผลจากการยื่นคําร้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

1. บริษัทฯ ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ศาลได้นัดไต่สวนคําร้องขอฟื้นฟู
กิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567

2. บริษัทฯ ได้รับการคุ้มครองจากการเรียกร้องและฟ้องร้อง (Automatic Stay) จนถึงวันที่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทําให้บริษัทฯ สามารถเตรียมแนวทางต่างๆเพื่อวางแผนชําระหนี้ได้

3.บริษัทฯ จะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และ ผู้จัดจําหน่ายหุ้นกู้

4. เจ้าหนี้ทุกราย ได้รับชําระหนี้อย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย และบริษัทฯ ยังสามารถดําเนินธุรกิจได้ ซึ่งทําให้บริษัทฯยังรักษาคนและธุรกิจ อีกทั้งยังมีเวลาในการปรับตัวและพูดคุยกับคู่ค้าและเจ้าหนี้การค้า เพื่อทําธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้ทําแผนตามที่เสนอในคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ

บริษัทฯ ได้เสนอให้ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทําแผน โดยอํานาจหน้าที่และสิทธิของผู้ทําแผนตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการซึ่งจะตกแก่ผู้ทําแผนนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งแต่งตั้งผู้ทําแผน มีดังนี้

  • 1.อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ
  • 2.บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัท (ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล)
  • 3.อํานาจในการจัดทําแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ

การทําธุรกิจคอนเทนต์ (“Content”) มีความเฉพาะเจาะจงและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งบริษัทฯ ได้ดําเนินธุรกิจนี้มีผลกําไรมาโดยตลอด โดยเฉพาะการบริหารทรัพย์สินไม่มีตัวตน ทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ
บริษัทฯจึงมีความพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทําธุรกิจ

บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯ มีเจตนาที่ดีในการชําระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู
กิจการของบริษัทฯ จะช่วยให้บริษัทฯ แก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้ง บริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ และเพื่อสร้างผลกําไรจากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง