ตลท.ยันไม่ห้ามชอร์ตเซล เหตุยังไม่พบธุรกรรมผิดปกติ

08 พ.ย. 2566 | 11:19 น.

"ภากร" ยันตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีนโยบายห้าม ชอร์ตเซลแบบเกาหลีใต้ เหตุไม่พบธุรกรรมผิดปกติ มุ่งเน้นให้ข้อมูลนักลงทุนใกล้ชิด ด้านนายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ "ไพบูลย์" มองห้ามทำชอร์ตเซล เป็นการบิดเบือนตลาด

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีที่เกาหลีใต้สั่งห้ามทำธุรกรรมขายชอร์ตเซล (Short Sell) นั้น แต่สำหรับตลาดหุ้นไทย ไม่มีนโยบายห้าม Short Sell ทั้งนี้มองว่าการจะเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ เรื่องการ Short Sell หรือโปรแกรมเทรดดิ้ง รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading: HFT) จะใช้ความเชื่อไม่ได้ ต้องมีข้อมูลที่มากพอในการตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ ฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และไม่พบความผิดปกติ โดยเข้าไปดูในรายละเอียดถึงความสัมพันธ์ของธุรกรรมกับนักลงทุนกลุ่มต่างๆ รู้แม้กระทั่งว่าใครทำ Short Sell บ้าง ขอย้ำว่าการซื้อขายยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

"อย่างโปรแกรมส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นด้วยความถี่สูง ( High Frequency Trading : HFT) ที่เข้ามากระทบตลาดหุ้นนั้น ปัจจุบัน พบมีสัดส่วนต่อมูลค่าการซื้อขายประมาณ 10% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งก็ยังไม่พบความผิดปกติ" ผู้จัดการตลท. กล่าว.

ส่วนกระแสข่าวการ Naked Short ในหุ้นไทยนั้น เขากล่าวว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเพียง 1-2 เคสเท่านั้น และในปี 2566  ซึ่งมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่พบการกระทำผิดในเรื่องดังกล่าว ขอย้ำว่าตลท.ติดตามดูอยู่ตลอดเวลา และจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้การทำ Naked Short เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายใครที่มีข้อมูลการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถส่งเรื่องที่ยังตลาดหลักทรัพย์ฯได้

นายภากร กล่าวต่อว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการให้ข้อมูลกับนักลงทุนอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องความผิดปกติในตลาด หรือข้อมูลที่นักลงทุนต้องรู้ รวมถึงการสอบถามข้อมูลไปยังบริษัทจดทะเบียน

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยประกอบไปด้วย 5 ด้านที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งมองว่า หากทำเรื่องนี้แล้วเสร็จจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทยในระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า


 

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้แสดงความเห็นต่อกระแสข่าวการเสนอให้ตลาดหุ้นไทยห้ามไม่ให้มีธุรกรรมการขายชอร์ตเหมือนกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีผลอะไรกับตลาดหุ้นให้ดีขึ้น แม้ว่าเกาหลีใต้จะมีการใช้มาตรการแล้วทำให้ตลาดหุ้นขึ้นก็จริง แต่หลังจากนั้นดัชนีก็ปรับตัวลดลงตามภาวะปกติ ซึ่งการห้าม Short Sell เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

อนึ่งคณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ได้ออกมาตรการห้ามทำการขายชอร์ตหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567