ZIGA เล็งวางระบบป้องกันภายใน หวั่นซ้ำรอยผู้บริหารบริษัทย่อยทุจริต

03 มิ.ย. 2566 | 11:12 น.

บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) "ZIGA" แจ้ง ตลท. เตรียมวางระบบป้องกันภายใน เพื่อป้องกันผู้บริหารบริษัทย่อยทุจริต พร้อมถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต

(3 มิถุนายน 2566) บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) "ZIGA" แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการควบคุมภายในของบริษัท หลังจากที่เกิดความเสียหายจากการตั้งด้อยค่าลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น 103 ล้านบาท ในงบการเงินสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา

ซึ่งบริษัทได้ฟ้องอดีตกรรมการ บริษัท วิสเดนกรุ๊ป จำกัด (วิสเดน) กับพวกในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์เนื่องจากไม่ส่งมอบเงินที่ได้จากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล "ZiiToken"

โดยบริษัทชี้แจงว่าเนื่องจากบริษัทย่อยเพิ่งถูกจัดตั้งขึ้น จึงยังไม่ได้มีการนำระบบควบคุมภายในมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดปัญหาและความผิดพลาด บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการที่จะจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกในอนาคต

รวมทั้งได้ถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานหากมีการทำธุรกิจประเภทนี้ในอนาคตเพื่อป้องกันการทุจริตจากฝ่ายจัดการในบริษัท

ขณะที่ความเห็นของคณะกรรมการบริษัท และกรรมการตรวจสอบ ในการประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม

ทางคณะกรรมการได้ประเมินระบบควบคุมภายในว่า การควบคุมภายในและบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม และเพียงพอในการดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และได้จัดทำบัญชี และรายการทางการเงินที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือไม่มีข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงิน และรายงานตรวจสอบและผลการประเมินระบบภายในของบริษัท และบริษัทย่อย ซิก้า เอฟซี จำกัด ในด้านต่างๆ

ถือว่าเพียงพอและเหมาะสม ภายใต้ สภาพแวดล้อมการควบคุม การประเมินความเสี่ยง มาตรการการควบคุม และการติดตามที่เหมาะสม

สำหรับการควบคุมระบบภายในบริษัทย่อยที่จะนำมาใช้ ประกอบด้วย

ให้ฝ่ายปฏิบัติงานพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ และประเมินความเสี่ยงในกิจกรรม หรือขั้นตอนในการทำงาน เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่า ความผิดพลาด เสียหายจะไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็จะอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย หรือไม่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์กรว่ามีงานใดที่ต้องให้ความสำคัญและมีความเสี่ยงอย่างไร

พิจารณากำหนดแนวทางจัดการกับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม 
1) การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยความเสี่ยง
2) ประมาณผลกระทบของความเสี่ยงที่มีต่อองค์กร และโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง ว่าอยู่ในระดับใด โดยอาจกำหนดเป็น 3 ระดับ คือ สูง ปานกลางต่ำ เมื่อทราบถึงระดับความเสี่ยงที่องค์กรเผชิญอยู่แล้ว ผู้บริหารก็จะนำมาพิจารณากำหนดแนวทาง จัดการกับความเสี่ยงที่มีสาระสำคัญและมีโอกาสที่จะเกิดสูงอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปกรณีเป็นความเสี่ยง ที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายในองค์กรจะใช้วิธีจัดระบบการควบคุมภายใน และกรณีเป็นความเสี่ยงที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกจะใช้วิธีการบริหารความเสี่ยง

พิจารณาและจัดเตรียมประกาศระเบียบหรือแนวปฏิบัติ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมการด เนินงานและการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทฯ เช่น ระเบียบเกี่ยวกับการรับชำระเงินของบริษัทฯ ให้รัดกุมและเหมาะสมมากขึ้น เช่น ไม่อนุญาตให้รับเงินจากลูกค้าหรือคู่ค้าเข้าบัญชีธนาคารที่ไม่ใช่ชื่อบัญชีของบริษัท เว้นแต่มีเหตุผลพิเศษและต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทก่อน จึงจะสามารถทำได้ เป็นต้น

ปรับปรุงให้มีการตรวจสอบและติดตามการรับชำระเงิน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและ/หรือข้อสัญญาที่บริษัททำไว้ (ถ้ามี) อย่างเคร่งครัด

จัดให้มีการทำบัญชีตามหลักการบัญชี เพื่อให้เป็นที่เรียบร้อย สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน

ทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการให้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถช่วยทำหน้าที่ติดตามและให้คำแนะนำฝ่ายปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที