ทำความรู้จักเครื่องหมาย "P" ใน "ระบบเทรดใหม่" หลัง ตลท. ปรับใช้

08 พ.ค. 2566 | 22:26 น.

"P" เครื่องหมายใหม่ ที่ใช้หลัง ตลท. เริ่ม "ระบบเทรดใหม่" เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 66 มีความหมายอย่างไร หากขึ้นเครื่องหมายนี้กับ "หุ้น" ตัวไหนบ่งบอกถึงอะไร ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว

หลังทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับ หลักเกณฑ์รูปแบบใหม่การซื้อ-ขาย หรือ "ระบบเทรดใหม่" โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีเครื่องมือใหม่ การปรับปรุงต่างๆ ยังมีการเพิ่มเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ที่ใช้กับ "หุ้น"

หนึ่งในนั้นคือ เครื่องหมาย "P" ซึ่งเป็นเครื่องหมายใหม่ และหลายคนอาจสงสัย ว่าเครื่องหมายนี้หมายความว่าอย่างไร แจ้งเตือนอะไรให้นักลงทุนทราบในกรณีใดบ้าง วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" มีคำตอบถึงที่มาของเครื่องหมายนี้

โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ใหม่ของการ "ซื้อ-ขาย" ซึ่งได้เพิ่มเครื่องหมายห้ามการซื้อขาย "P" ที่ย่อมาจากคำว่า "Pause" หรือการหยุด ซึ่งทาง ตลท. จะใช้กับหลักทรัพย์ที่กำหนดให้เข้า "มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3"

อ่านเพิ่มเติม : สรุปการปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET)

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ลงทุน เพราะการขึ้นเครื่องหมาย P จะมาจากสาเหตุของพฤติกรรมการซื้อ-ขายหุ้นที่มีความผิดปกติ ซึ่งหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย P "จะถูกหยุดการซื้อ-ขายเป็นระยะเวลา 1 วัน" เพื่อให้นักลงทุนพิจารณาข้อมูล

ขณะที่ยังคงการใช้เครื่องหมาย "SP" และ "H" ไว้ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในการใช้ โดยจะมีสาเหตุมาจากตัวของบริษัท

หลักเกณฑ์ มาตรการกำกับการซื้อขาย 3 ระดับ ประกอบด้วย

มาตรการระดับ 1

  • ให้ซื้อด้วยการวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ (บัญชี cash balance)
  • ห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย

มาตรการระดับ 2

  • ให้ซื้อด้วยการวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ และ
  • ห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และ
  • ห้าม Net Settlement (การชำระค่าซื้อขายแบบยอดสุทธิ)

มาตรการระดับ 3

  • ห้ามซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการ (เฉพาะวันแรก)
  • รวมทั้งการขึ้น เครื่องหมาย "P" 

เมื่ออนุญาตให้ซื้อขาย

  • ให้ซื้อด้วยการวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ และ
  • ห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และ
  • ห้าม Net Settlement

อย่างไรก็ตามมาตรการในแต่ละระดับนั้น มีระยะเวลาเริ่มต้นจนถึงวันสิ้นสุดครั้งละ 3 สัปดาห์ โดยทาง ตลท. สามารถพิจารณาขยาย หรือ ยกระดับมาตรการเพิ่มได้ หากยังพบว่าสภาพการซื้อ-ขาย ของหลักทรัพย์นั้นๆ ยังคงมีความผิดปกติ