MGC-ASIA ลั่น ต้องเป็นผู้นำทุกธุรกิจใน Ecosystem

24 เม.ย. 2566 | 06:50 น.

“มิลเลนเนียม กรุ๊ปฯ MGC-ASIA” ลั่น ต้องขึ้นเป็นผู้นำทุกธุรกิจใน Ecosystem เหตุสร้างเครือข่ายการเดินทางครบ ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนเม.ย.นี้

ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 280 ล้านหุ้นที่ราคาหุ้นละ 7.95 บาท หลังนักลงทุนตอบรับการจองซื้อหุ้นคึกคักมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้  ตุนเงินกว่า 2,226 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในเดือนเมษายนนี้ของบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ “มิลเลนเนียม กรุ๊ปฯ MGC-ASIA” ภายใต้ตัวย่อ  MGC

ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด(มหาชน)เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจเราเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางและสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ สถานะ และระดับของความสุขของลูกค้า อยู่ที่ว่า มีเงินขนาดไหน ก็ซื้อความสุขตามเงินที่มี เราเลยเรียกตัวเองว่า ไลฟ์สไตล์ โมบิลิตี้ โดยที่เรามีโปรแกรมทางการเงิน มีแขนขาเรื่องประกันภัยต่างๆที่ช่วยเสริมศักยภาพของสินค้าและบริการของเราทุกเซ็กเม้นต์

MGC-ASIA ลั่น ต้องเป็นผู้นำทุกธุรกิจใน Ecosystem

ทั้งนี้ระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทมีสินค้าและบริการที่หลากหลาย กลุ่มแรกคือ ธุรกิจจำหน่ายแบรนด์ระดับโลกทั้งรถ เรือ ไม่ว่าจะเป็น Rolls-Royce, BMW, MINI, Honda บิ๊กไบค์ BMW Motorrad, Harley-Davidson หรือเรือยอชท์ Azimut เรือแม่น้ำ Chris-Craft รวมไปถึงเครื่องบิน เราไม่ได้ลงทุนเรื่องเครื่องบิน แต่เป็นตัวแทนให้บริการให้เช่าเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว VistaJet และเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วของของสายการบินชั้นนำเช่น สายการบินไทย

ส่วนที่สองคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการหลังการขาย เพราะขายสินค้าต้องมีบริการ เรามีบริการหลังการขายทั้งหมด ซื้อรถยี่ห้อไหน ก็ต้องเข้าศูนย์ยี่ห้อนั้น ถ้ายี่ห้อที่บริษัทไม่ได้เป็นตัวแทนขาย จะมีธุรกิจให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ MMS Bosch Car Service ไว้บริการได้ทุกแบรนด์ ซึ่งเราเป็นพันธมิตรกับกับบริษัท Borsh ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านยานยนต์

ส่วนที่สามคือ ธุรกิจบริการเช่ารถยนต์ซึ่งจะทั้งระยะสั้น ที่อยู่ตามสนามบิน และระยะยาวเป็นบริษัทและองค์กรต่างๆ รวมถึงจัดหาพนักงานขับรถด้วย เราเรียกกลุ่มนี้ว่า Operating Lease เพราะจะมีทั้งการปล่อยไฟแนนซ์และบริการด้วย ส่วนที่ 4 จะเป็นธุรกิจที่เราร่วมทุนแล้วได้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาที่บริษัทแม่ อย่างที่ร่วมทุนกับบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)ตั้ง บริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่งระยนต์และเรือระดับลักชัวรีหรือร่วมทุนกับฮาวเด้น กรุ๊ป ทำธุรกิจประกันภัย

“ถ้ามองแนวราบ จะเห็นภาพว่า กลุ่มธุรกิจเรามีอะไรบ้าง แต่ถ้าหมุนแกนเป็นแนวตั้ง เราจะเรียกตัวเองว่า Lifestyle Mobility Ecosystem จะครอบคลุมทุกทุกเซ็กเม้นต์ที่ลูกค้าต้องการ แล้วถ้าเราหมุนอีกแกน ไม่ต้องถึง 360 องศา เอาแค่ 180 ก็พอ ทุกวันนี้บริการรถเช่าเรามีแพลตฟอร์มบุ้คกิ้งออนไลน์ แต่เรายังไม่ได้เอาสินค้าที่เรามีทั้งหมดมาขึ้นแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นเทคในอนาคตที่เราจะทำ ขึ้นกับว่า เราจะหมุนแกนไหนหรือเล่นแกนไหนมากกว่า เพราะทุกๆแกนมีระยะเวลาที่เหมาะสม” ดร.สัณหวุฒิกล่าว

ต่อข้อซักถามที่ว่า บริษัทเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 ผ่านมา 22 ปีแล้วทำไมจึงตัดสินใจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดร.สัณหวุฒิกล่าวว่า เคยคิดเรื่องการเข้าตลาดมาแล้ว เพราะเชื่อว่า การเข้าตลาดจะทำให้บริษัทมั่นคงยั่งยืน เราเริ่มธุรกิจมา 22 ปีแล้ว ตอนนั้นเราทำตามความฝัน ทำในสิ่งที่ชอบ แต่พอมองย้อนกลับไปก็เห็นว่า ทำมาเยอะมาก เลยจัดกระบวนทัพใหม่และเห็นว่า วันนี้เราไม่สามารถที่จะอยู่ตรงกลางได้ เราจะต้องขึ้นไปเป็นผู้นำในทุกธุรกิจที่เราเข้าไปทำ เพราะฉะนั้นเราต้องขึ้นบันไดเลื่อนหรือขึ้นลิฟท์อย่างเดียวเท่านั้น เราไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้อีกต่อไป

“ผมคิดว่า ถ้าเราต้องการความยั่งยืนและความมั่นคงกับธุรกิจ โดยที่ลูกน้องของเราก็จะเติบโตไปด้วยผมเชื่อว่า ผมจะต้องเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ อันแรกก่อนคือ อัลฟ่าเอ็กซ์ที่ต้องการลงทุน การที่เราร่วมธุรกิจกับธนาคารที่มีฐานทุนที่ใหญ่มาก ถ้าเราไม่เข้าตลาด หลักทรัพย์ การเพิ่มในส่วนของทุนก็คงตามกันไม่ทัน ซึ่งเงินที่ได้จากการขาย IPO ครั้งนี้จะนำรองรับแผนงานขยายการลงทุนของอัลฟาเอกซ์ด้วย” ดร.สัณหวุฒิ กล่าว

สำหรับกุญแจแห่งความสำเร็จในการทำธุรกิจหรือ Key success factors ดร.สัณหวุฒิกล่าวว่า สำหรับผมมี 3 เรื่อง

  • อันแรกคือ ปรัชญาในการทำงาน ให้เป็นบรรทัดฐานไม่ใช่ว่าต้องให้บริษัทขนาดนี้ ขนาดนั้น เพราะไม่มีทางที่จะพลิกฟ้าพลิิกแผ่นดินภายในระยะสั้น กลางได้ เพราะในทุกๆ ส่วนที่เราทำ มันมีเจ้าตลาดอยู่แล้ว
  • ส่วนที่สอง ผมคิดว่า เรามีความระมัดระวังในการบริหารธุรกิจ เราไม่ไปทำอะไรที่มันเสี่ยงหรือเกินตัว มันทำให้เราขยายธุรกิจได้แบบนี้ตลอดทาง
  • สุดท้ายคิดว่า มีบุคลากรและพันธมิตรที่ดีที่เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตขึ้น

ส่วนผสมต่างๆเหล่านี้ ทำให้บริษัทเติบโตมั่นคงขึ้นแข็งแรงและผ่านมาได้ แม้ว่าจะเจอกับวิกฤติหนักๆ มาหลายครั้ง ทั้งน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ อุตสาหกรรมรถยนต์แทบเจ๊งกันหมด หนักอันที่สองคือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือการปฏิวัติ หรือล่าสุดคือ การขาดแคลนชิ้นส่วนซิมิคแอนดัคเตอร์ (ชิป) ซึ่งกระทบต่อกระบวนการผลิตรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เราเจอเหตุการณ์ในทุกๆครั้ง เราจะเห็นโอกาสเสมอ เรามองว่า ทุกวิกฤตมีโอกาส แล้วเราอยู่ในจังหวะที่จับโอกาสนั้นเข้ามาได้ ซึ่งธุรกิจใหม่ๆ หลายอันของเราเกิดขึ้นตอนวิกฤต อย่างช่วงวิกฤตโควิด-19 ทุกคนระมัดระวัง แต่ช่วงโควิด 3 ปี ผมเพิ่มเอ้าท์เลทไปไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง เพราะมองว่า ถ้าไม่สร้างช่วงโควิด ราคาจะต้องแพงกว่านี้ 30% โควิดทำให้เราควบคุมงบประมาณได้ และเมื่อโควิดจบลง เราก็พร้อมที่จะเดินหน้า ในขณะที่ทุกคนเพิ่งเริ่มจะขยับลงทุน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,881 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2566