เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 3)

24 เม.ย. 2566 | 09:05 น.

เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 3) :คอลัมน์ Investing Tactic โดย น.สพ. ศราวิน สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

ปกติแล้วมนุษย์มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่แตกต่างกันอยู่แล้วและถึงแม้จะเป็นคนที่ลักษณะคล้ายกัน แต่ในรายละเอียดก็ยังอาจตัดสินใจแตกต่างกันได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า อารมณ์ ก็มีผลเช่นกัน

อารมณ์  โดยเฉพาะอารมณ์ชั่ววูบนั้น มีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก และก็เป็นเรื่องยากมากที่จะสังเกตและปรับปรุง เนื่องจากอารมณ์นั้นคือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอบสนองจากเหตุการณ์ต่างๆที่มากระทบ และทำงานอยู่เบื้องหลังความคิด การสังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้นมีเทคนิค เช่น การสังเกตความรู้สึกที่ร่างกาย ตัวอย่างการชาหน้า มือเย็น มวนท้อง การนึกถึงภาพที่ปรากฏในความคิด การสังเกตความรู้สึกซึ่งก็คือชื่อเรียกของอารมณ์ที่ปรากฏขณะนั้น เช่น หงุดหงิด เบื่อ และ การสังเกตความคิดและเสียงในหัว อาจใช้เวลานานในการฝึก แต่เมื่อเราชำนาญ เราจะจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น

ในการลงทุนเหตุการณ์ที่พบบ่อย มักเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า บนอารมณ์โลภ โกรธ อยากเอาคืน หรือความกลัว ตัดสินใจซื้อหุ้นที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรอง หรือ ไม่ได้มีสัญญาณกลับตัวเลย

“การจดบันทึกการซื้อขาย ความคิด และเหตุผล” เป็นเครื่องมือที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพอย่างมาก เพื่อกลับมาศึกษาพฤติกรรมของผู้ลงทุนเอง

  • ว่าได้ทำตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้หรือไม่
  • สังเกตอารมณ์ที่มีผลต่อการตัดสินใจ
  • อารมณ์ เมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ เหตุของอารมณ์นั้นมาจากไหน

เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 3)

แล้วหาวิธีแก้ไขอารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นๆ การแก้ไขอารมณ์ในเวลาที่เจอเหตุการณ์ต่างๆนั้น อาจจะง่ายสำหรับบางคนที่มีความถนัด และมีความฉลาดทางอารมณ์เป็นทุนมาอยู่แล้ว

แต่สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานมาก เนื่องจากประสบการณ์และ ปมในใจของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่นั้นเป็นการปรับความรู้สึกให้เหมาะสมกับเหตุการณ์เช่น

  • เมื่อขาดทุนอารมณ์เสีย

ต้องพยายามดึงความรู้สึกไปที่ “ภาพใหญ่” ว่าเราลงทุนเพื่อชนะในภาพรวมมากกว่าการขาดทุนในครั้งนี้ครั้งเดียว แล้วทำตามเงื่อนไขและกลยุทธ์ที่ศึกษามาอย่างดีแล้วต่อไป

ไม่เช่นนั้นแล้วมีโอกาสสูงมากที่อารมณ์จะพาให้เราอยากล้มเลิกการลงทุนกลางทาง เพราะไปจมอยู่กับความผิดหวังจากการลงทุน “ระยะสั้น” มากเกินไป

  • เมื่ออารมณ์ดี

อาจทำให้เราประมาทและลงทุนโดยไม่รอบคอบไม่ทำตามวินัยได้เช่นกัน หลายครั้งการเกิดอารมณ์ในเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุน แต่มาเกิดขึ้นในช่วงที่จะตัดสินใจลงทุน แล้วเอาอารมณ์มาปนกัน ก็มีผลต่อการตัดสินใจในกาลงทุนและต้องระมัดระวังด้วย

“การฝึกควบคุมอารมณ์ให้เป็นกลาง” ไม่ดีไม่แย่เกินไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในหลายอาชีพ โดยเฉพาะในการเป็นนักลงทุน เพราะเอื้อต่อการทำงานและการตัดสินใจที่ดีและราบรื่นในระยะยาว

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,881 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2566