เจาะลึกส่งออก SME ไทย...เมื่อผู้ประกอบการตัวเล็กต้องเหนื่อยหนักในตลาดโลก

31 มี.ค. 2566 | 09:03 น.

เจาะลึกส่งออก SME ไทย...เมื่อผู้ประกอบการตัวเล็กต้องเหนื่อยหนักในเวทีตลาดโลก: คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ขยายวงกว้างไปแทบทุกภาคส่วน จนเรียกได้ว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและมนุษยชาติไปโดยสิ้นเชิง 

แน่นอนว่า กระดูกสันหลังของเศรษฐกิจโลกอย่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (นับรวมถึงธุรกิจรายเล็ก) หรือ “SME” ซึ่งมีมากถึง 200 ล้านรายกระจายอยู่ทั่วโลก หรือคิดเป็น 90% ของบริษัททั้งหมด ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการ SME มีความเปราะบางสูงเป็นทุนเดิม เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจน้อย ยอดขายไม่แน่นอน กระแสเงินสดและสภาพคล่องต่ำ ต้นทุนทางการเงินสูง อีกทั้งยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการ SME มีความเปราะบางสูงเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากรายงานการสำรวจของ Guidant Financial เกี่ยวกับบริษัทขนาดเล็กหลายแห่งทั่วโลก พบว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีความไม่แน่ใจว่าจะอยู่รอดได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหรือไม่ มีสัดส่วนมากถึง 19% สอดคล้องกับงานวิจัยของ World Bank ที่ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนธุรกิจขนาดเล็กในหลายๆ ประเทศประสบภาวะล้มละลายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นใช้แรงงานคนเป็นหลัก อาทิ ธุรกิจโรงแรมและที่พัก บริการด้านอาหาร ศิลปะและนันทนาการ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ธุรกิจ SME ก็เป็นเหมือน “มดงาน” ของเศรษฐกิจไทยที่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า จากผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศที่มีมากถึง 3.18 ล้านราย มีจำนวนแรงงานถึง 12.6 ล้านคน หรือ 71.9% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งยอดขายของธุรกิจ SME ไทยราว 80-90% มาจากตลาดในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากธุรกิจ SME เกินครึ่งหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งและบริการ ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ในพื้นที่เป็นหลัก และในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 รายได้ของธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก จนทำให้ผู้ประกอบการ SME บางส่วนต้องลดขนาดกิจการลง

เจาะลึกส่งออก SME ไทย...เมื่อผู้ประกอบการตัวเล็กต้องเหนื่อยหนักในตลาดโลก

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วผู้ประกอบการ SME ไทยที่ส่งออกตลาดต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้างในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แน่นอนว่า แรงขับเคลื่อนของส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มแผ่วลงตามโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จนทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่กระนั้น มูลค่าส่งออกของ SME กลับหดตัวสูงถึง 6.0%YoY ในปี 2565

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการส่งออกของ SME ไทยค่อนข้างต่ำ ต้องยอมรับว่าเกิดจากตลาดส่งออกของ SME กระจุกตัวเพียงไม่กี่ประเทศ โดยจากการวิเคราะห์จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พบว่า ผู้ส่งออกรายเล็กมีการกระจายตัวในมิติของตลาดน้อยกว่าผู้ส่งออกรายใหญ่ถึง 5 เท่า โดยผู้ประกอบการ SME ส่งออกสินค้าในตลาดต่างประเทศเฉลี่ยเพียง 2 ประเทศ (ส่วนใหญ่ส่งออกไปตลาดอาเซียนและจีน) เมื่อเทียบกับธุรกิจรายใหญ่ที่กระจายตลาดเฉลี่ยถึง 11 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังพบว่า SME ส่งออกประเภทสินค้าน้อยกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ถึงครึ่งหนึ่ง โดยอยู่ที่เฉลี่ยเพียง 2-3 ประเภทสินค้า เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออกสินค้าเฉลี่ย 4-5 ประเภท เมื่อเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเปราะบาง ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อผู้ค้า SME ซึ่งส่งออกสินค้าน้อยประเภทกว่ากลุ่มอื่น

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SMEs ที่ส่งออกผลไม้สด ส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก  ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ผลพวงจากมาตรการ Zero COVID ภาวะอุปทานชะงักงันในภาคการผลิต ตลอดจนประเด็นปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายอย่างมาก

ทำให้ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการ SME ไปยังตลาดจีนหดตัวถึง 19.0%YoY ต่ำสุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่มีการจัดทำข้อมูล โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้าจำเป็นแม้ยังมีทิศทางสดใสแต่มีข้อจำกัดในการเติบโตมากขึ้น เช่น สินค้าจำพวกผักผลไม้สดที่มีมูลค่าการส่งออกไม่มาก จึงไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนการส่งออกของ SME ในภาพรวม

นอกจากนี้ การปิดด่านชายแดนชั่วคราวก็กระทบต่อการส่งออกของ SME อยู่ไม่น้อย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างออกมาตรการสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายคนและสินค้าโดยไม่มีความจำเป็น

เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแถบชายแดนที่ซบเซาลงถนัดตา ส่งผลให้การค้าชายแดนของผู้ประกอบการ SME ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากถึงเกือบ 15% หดตัวอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 มูลค่าส่งออกของ SME ผ่านเส้นทางชายแดน 4 ประเทศ (เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย) ก็หดตัวสูงถึง  24.2%YoY โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างการส่งออกชายแดนไปยังลาวที่ติดลบเกือบ 26%YoY

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายภาคส่วนยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (Uneven Recovery) อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ การยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้า ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงทำให้กำลังซื้ออ่อนแอลง

ฉะนั้นแล้ว ผู้ส่งออก SME ไทยที่อาจล้มลุกคลุกคลานในปีที่ผ่านมา แต่ปี 2566 SME จะต้อง “ลุกให้ไว” “ปรับตัวให้เร็ว” นำข้อได้เปรียบจากความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนสายการผลิตที่ง่ายกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลอดจนขยายตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของตน รวมไปถึงการเน้นลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน