เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 2)

02 เม.ย. 2566 | 09:21 น.

เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 2) :คอลัมน์ Investing Tactic น.สพ. ศราวิน สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

สาเหตุหลักๆที่มักทำให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่เป็นกลาง  คือ

  1. ข้อมูลและความน่าจะเป็นที่มีเยอะมากเกินไปทำให้เราต้องสรุปตามความคุ้นเคย 
  2. ข้อมูลที่น้อยเกินไปไม่เพียงพอจะอธิบายทำให้เราต้องสรุปสิ่งนั้นเอาเอง
  3. การถูกจำกัดหรือเร่งเวลาให้ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และ
  4. สมองมักจะจดจำข้อมูลจำนวนมากได้ไม่ครบและมักเลือกข้อมูลที่คุ้นเคยหรืออาจได้ใช้ประโยชน์เก็บไว้

เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 2)

นักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในเรื่องของอคติไว้มากกว่า 150 ชนิด แต่เราจะลองยกตัวอย่าง อคติและความลำเอียงที่มักส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนไว้ดังนี้

  • confirmation bias เรามักจะเชื่อข้อมูลที่ช่วยยืนยันความเชื่อเดิมและละทิ้งข้อมูลฝั่งตรงข้าม เช่นเมื่อเชื่อในทิศทางราคาว่าจะขึ้น ก็จะพยายามไปหาข่าวดีมาช่วยสนับสนุนว่าจริง และไม่สนใจข้อเสียในทางตรงข้ามที่อาจทำให้ราคาลง การทำเช่นนี้อาจทำให้สบายใจและมีความกล้าที่จะลงทุน  แต่อาจทำให้เสียหายมาก จากการประเมินที่ไม่เป็นกลางได้
  • Overconfidence bias เรามักเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของตนเกินความเป็นจริง อาจด้วยความสำเร็จที่ผ่านมา หรือมั่นใจในแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งอาจทำให้ลงทุนเสี่ยงเกินความเป็นจริงได้ ตัวอย่างที่มักนำมาอธิบายเป็นประจำคือ Dunning Kruger effect คือ ความมั่นใจมักสูงสุดในช่วงที่ประสบการณ์น้อย และ ลดอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาเมื่อเจอปัญหาที่ไม่ได้คาดคิด และ เข้าสู่จุดที่เหมาะสมเมื่อมีประสบการณ์มากเพียงพอ
  • Herding bias เรามักเอนเอียงไปตามกระแสคนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะมนุษย์อยู่รอดมาได้จากความเป็นสัตว์สังคมมีสัญชาตญาณที่จะร่วมมือกันไม่ขัดแย้งกันจนต้องทำร้ายกันเอง   แต่ในการลงทุน อาจทำให้เราเลือกลงทุนตามคนอื่น ทั้งที่ไม่เหมาะสมกับตัวเรา หรือ ไม่อยู่บนกฎเกณฑ์ที่เราได้วางเอาไว้ จนนำไปสู่ความเสียหายได้ ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งจากการลงทุนตามคนอื่นคือ เราจะไม่ได้หาข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วเกิดเป็นทักษะของตัวเองซึ่งอาจทำให้ต่อยอดความรู้ได้น้อยลง
  • Anchoring bias  ยึดติดกับข้อมูลที่ได้มาตอนแรก   มักเกิดขึ้นได้มากกับสิ่งที่เราเพิ่งมีประสบการณ์ครั้งแรกๆ  เช่น วิธีการลงทุนในแบบแรกที่เรารู้จัก บุคคลที่แนะนำคนแรก และที่พบบ่อยที่สุดคือ ยึดติดกับราคาแรก  เช่นเคยเห็นราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท แล้วราคาลดลงมาเหลือ  8 บาท แล้วเกิดความรู้สึกอยากซื้อเพราะราคาถูกลง  โดยที่อาจไม่ได้ตรวจสอบว่า กิจการไม่ดีเหมือนเดิมแล้ว  ในทางกลับกัน  บริษัทที่เคยชื่อเสียงไม่ดี แต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจการแล้ว ก็อาจทำให้เราไม่สนใจ เนื่องจากยึดติดอยู่กับข้อมูลเดิม เป็นต้น
  •  Loss aversion bias  กลัวการสูญเสีย มากกว่าสิ่งที่จะได้    เช่น การลงทุนที่ควรตัดขาดทุนกลับไม่ยอมตัดสินใจเพราะกลัวความเสียใจที่จะสูญเสียหุ้นชุดนี้ไปแล้วขาดทุน  และกลัวเสียโอกาสที่ราคาจะกลับขึ้นมา มากกว่าโอกาสนำเงินนั้นไปลงทุนกับหุ้นตัวอื่น  กลับกันการลงทุนที่ควรลงทุนก็ไม่กล้าลงทุนเพราะกลัวจะสูญเสีย เพราะเคยขาดทุนมา  รวมไปถึง การที่ได้กำไรถึงเป้าแล้ว แต่ยังไม่ยอมขายเพราะกลัวว่าจะขาดทุนกำไรถ้าราคาไปต่อจนกลายเป็นขาดทุนจริงๆ  การมีหลักเกณฑ์การลงทุนที่ทดสอบแล้ว  และมองที่เป้าหมายการลงทุนในระยะยาวเป็นหลักจะช่วยลดปัญหากวนใจในเรื่องนี้ได้
  • Hindsight bias ปรากฏการณ์ว่าแล้ว...  เรามักจะเห็นเป็นประจำหลังจากราคาสินทรัพย์ใดขึ้นหรือลง แล้วเราสามารถอธิบายเหตุผลของการขึ้นลงนั้นในภายหลังได้  แต่เราไม่ได้ซื้อไว้  และเราก็มักจะคิดว่าเรารู้เหตุผลที่จะขายได้ในราคาสูงสุด หรือ ซื้อในราคาต่ำสุดได้ด้วย   ทั้งที่ในความเป็นจริง ก่อนเกิดเหตุการณ์นั้น เราเองก็ไม่ได้เลือกที่จะซื้อสินทรัพย์ตัวนั้นเลย  

การที่เราอธิบายได้ในภายหลัง  หรือ การที่เรายอมรับฟังคำอธิบายจากแหล่งอื่น  นั้นเป็นเพราะมนุษย์มีความอยากเรียนรู้  ต้องการคำอธิบายต่อเหตุการณ์ต่างๆเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย  แม้ว่าในหลายๆครั้งมันอาจไม่ใช่เหตุผลที่ถูกตามความเป็นจริงก็ตาม เพราะก่อนเหตุการณ์เกิดอาจมีเหตุผลให้ตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้อีกมากมายแต่ไม่ได้ถูกนำกลับมาวิเคราะห์แล้ว   ซึ่งก็อาจทำให้เราไม่ได้เกิดการเรียนรู้อย่างถูกต้องจากเหตุการณ์นั้น เพียงแต่มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเพราะไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิดเท่านั้นเอง 

ยังมีความลำเอียงอีกหลายชนิดที่นักพฤติกรรมศาสตร์ศึกษา และแนะนำให้ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันการตัดสินใจผิดพลาด และการเป็นนักลงทุนที่ดีควรรู้จักและศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเข้าใจข้อจำกัดของตัวเอง รับฟังกลั่นกรองความคิดเห็นของผู้อื่น และใช้ปรับปรุงการตัดสินใจลงทุนอย่างมีอคติครอบงำน้อยที่สุด