ซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุด และขายหุ้นในจุดที่สูงที่สุด

21 ธ.ค. 2565 | 07:36 น.

ซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุด และขายหุ้นในจุดที่สูงที่สุด :คอลัมน์ Investing Tactic โดย นายศิระ ลี้เจริญรักษา (โค้ชอ้อ) เพจ โค้ชอ้อ และ วิทยากรพิเศษโครงการ SITUP

ซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุด และขายหุ้นในจุดที่สูงที่สุด  เชื่อว่านักลงทุนเคยมีความคิดนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน  การขายหุ้นในจุดสูงที่สุดนั้นเป็นไปได้ยากมาก  ส่วนการซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุดนั้นพอเป็นไปได้  วันนี้ผมจะแชร์วิธีการหาจุดต่ำสุดของราคาหุ้นให้ฟังกันครับ

ซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุด และขายหุ้นในจุดที่สูงที่สุด

ผมใช้องค์ความรู้ 3 อย่าง  คือ

  1. Elliott wave
  2. Fibonacci
  3. Volume

มาเริ่มจากข้อแรก ใน Elliott wave คลื่นที่เกิดจุดต่ำสุดในรอบคือ คลื่น C คลื่น 2 และคลื่น 4 คลื่นที่ดูง่ายที่สุดคือคลื่น C เพราะเป็นการลงแบบ Panic sell ราคาลงแรงไหลเร็วจึงดูง่าย  เมื่อจบคลื่น C แล้วจะเป็นจุดเริ่มต้นของขาขึ้นแต่มีความเสี่ยงสูงเพราะแนวโน้มหลักเป็นขาลงเต็มตัว ส่วนคลื่นที่ 4 เป็นจุดต่ำของรอบที่อยู่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับคลื่น C และคลื่น 2   ข้อดีคือแนวโน้มหลักเป็นขานแล้ว แต่ข้อเสียคือ upside เหลือค่อนข้างน้อย                                                                                              

 

คลื่นที่ผมจะแนะนำคือคลื่นที่ 2 เป็นคลื่นที่ปลอดภัยเพราะมีการหยุดความร้อนแรงของขาลงมาแล้วในการเด้งทำคลื่นที่ 1 ก่อนจะย่อลงมาทำคลื่นที่ 2   และยังมี upside ค่อนข้างมาก ผมจึงชอบที่จะหาจุดเข้าที่ต่ำสุดในคลื่นที่ 2

ซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุด และขายหุ้นในจุดที่สูงที่สุด

 

ถัดมา ปัญหาในการนับหาขาทั้งหมดของคลื่น 2 นั้นค่อนข้างยาก ต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร เพราะการเคลื่อนตัวในคลื่น 2 มีลักษณะที่ซับซ้อน มีรูปแบบการเคลื่อนตัวเยอะที่สุดในบรรดาคลื่นของ Elliott wave แต่ถ้าเราไม่ต้องการหารูปแบบทั้งหมด  เพราะเราไม่ได้เน้นนับ wave เพื่อหาความสมบูรณ์  เราเพียงแค่ต้องการหาจุดต่ำสุด และมีโอกาสถูกต้องสูงที่สุด 

 

ดังนั้นผมมีทริกง่ายๆ สำหรับมือใหม่ คือเราแค่ต้องหาการจบคลื่นในรูปแบบสุดท้าย คือลงครบ 5 ขา ตัวช่วยง่ายๆ คือการหาการเกิด Bullish divergence ใน  Timeframe ที่ใหญ่ขึ้น   ในที่นี้ผมมักจะใช้ Bullish divergence ในระดับ Timeframe รายสัปดาห์ เพื่อหาจุดกลับตัวที่อยู่ต่ำสุดของคลื่น 2 ใน Timeframe รายวัน
              

เมื่อทำแบบนี้เราจะสามารถลดรูปแบบที่ซับซ้อนต่างๆที่อยู่ในคลื่น 2 ลงไปได้  จึงทำให้การทำงานในส่วนนี้น้อยลง แต่เราจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนการทำการบ้านของตัวหุ้นให้มากขึ้น  เพราะการกลับตัวที่เกิด  Bullish divergence  ใน  Timeframe ใหญ่ หรือการจบคลื่นในรูปแบบสุดท้าย ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ 

 

ถัดมาผมใช้ตัวเลขของ  Fibonacci retracement เพื่อหาการย่อตัวที่มีนัยยะ  จุดที่มีนัยยะหลังจากการเกิด  Bullish divergence ใน Timeframe ใหญ่ มักจะลงมาถึงบริเวณ  61.8% , 78.6%

ซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุด และขายหุ้นในจุดที่สูงที่สุด

 

และเรื่องสุดท้ายที่ผมเอามาช่วยอ้างอิงจุดคาดการณ์ว่าจะเป็นจุดต่ำสุด คือปริมาณวอลุ่ม   ทุกๆ จุดที่เกิดการกลับตัวขึ้นหรือลง มักจะมีปริมาณการซื้อขายที่สูงกว่าปกติ หรือเกิดการพีคของวอลุ่ม เมื่อเทียบกับวอลุ่มในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน 

 

เมื่อทั้ง 3 ส่วนนี้มาบรรจบกัน  มักจะเกิดอารมณ์ของความสิ้นหวัง ทั้งข่าวสารเชิงลบ และสภาพบรรยากาศมวลรวมในตลาดที่ไม่สู้ดี  ณ.จุดๆ นั้น เป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญ มักจะเป็นจุดต่ำสุดของราคา
 

ในการวาง Money Management เทคนิคส่วนตัวผมจะใช้การวางเงินไม้เดียว   จะไม่มีการแบ่งไม้ หรือไม่มีการถั่วเฉลี่ยซื้อหุ้น   และสิ่งสำคัญเมื่อเราคิดจะซื้อหุ้นในจุดต่ำที่สุดคือต้องมีวินัยในการ Stop loss อย่างสูง  เพราะเมื่อเราจะเสี่ยงซื้อที่จุดต่ำสุด  แปลว่าราคาหุ้นนั้นยังอยู่ในแนวโน้มของขาลง มีความเสี่ยงที่จะเกิดการไหลลงแรงๆของราคา  จะทำให้เกิดการเสียหายอย่างมากกับ Portfolio ของเราได้
 

และสุดท้ายการที่เราได้หุ้นมาในราคาที่ต่ำที่สุด  ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำกำไรได้สูงที่สุดในระยะเวลาอันสั้น  ราคาอาจจะย่ำอยู่บริเวณที่เราซื้อเป็นเวลานานก็เป็นได้  เพราะคลื่น 2 ของ Elliott wave เป็นคลื่นของการ Sideway ปรับฐาน เมื่อเทียบกับการซื้อหุ้นที่ยืนยันการขึ้นของคลื่น 3  ที่ต้นทุนของจุด Breakout อาจจะอยู่สูงกว่าต้นทุนจุดต่ำสุดของคลื่น 2  แต่ถ้าเทียบในระยะเวลาที่เท่ากัน คลื่น 3 อาจจะทำกำไรได้มากกว่าก็เป็นได้