‘ราคาน้ำมัน’ กับ การลงทุนในตลาดหุ้นไทย

27 พ.ย. 2565 | 02:45 น.

‘ราคาน้ำมัน’ กับ การลงทุนในตลาดหุ้นไทย :คอลัมน์ มันนี่ ดี ไอ วาย โดยณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

 

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกในปี 2565 แกว่งตัวผันผวนมาก ซึ่งหากได้พิจารณาราคาน้ำมันดิบ Brent จะพบว่า มีการปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกจากระดับ 78 เหรียญต่อบาร์เรล ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ระดับ 139 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ตอบรับกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น

 

อีกทั้งประเทศในกลุ่มตะวันตกต่างออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในหลายรูปแบบ ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น หนุนผลประกอบการของกลุ่มพลังงานต้นน้ำและกลุ่มโรงกลั่นในช่วง 2Q65 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก (ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น ค่าการกลั่นขึ้นต่อเนื่อง และมีบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน)

 

ขณะที่ผลประกอบการของกลุ่มปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีแรกอ่อนแอจากส่วนต่างปิโตรเคมีที่แคบลง เนื่องจากต้นทุน Gas และราคาแนฟทา (Naphtha) ที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน หากแต่ราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังไม่เด่นนัก ถัดมาในช่วง 3Q65 น้ำมันได้มีการย่อตัวลง

 

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับฐานลงสู่จุดต่ำสุดบริเวณ 83 เหรียญในช่วงเดือนกันยายนของปี 2565 โดยได้รับปัจจัยกดดันหลักจากความกังวลอุปสงค์น้ำมันดิบโลกที่ชะลอตัว ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกมีการปรับนโยบายดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อในทุกประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจหลักที่สำคัญของโลก ทั้งสหรัฐฯ, จีน และยุโรปอ่อนแอลง

 

ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 และต่อเนื่องไปถึง 1Q66 เราคาดว่า แนวโน้มราคาพลังงานจะทรงตัวในระดับสูงในกรอบ 85-100 เหรียญต่อบาร์เรล โดย EIA ได้ออกมาคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกปี 2566 เฉลี่ยที่ 95 เหรียญต่อบาร์เรล และ BofA คาดที่ 100 เหรียญต่อบาร์เรล จากความต้องการพลังงานตามฤดูกาลที่สูงขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว

 

แม้ว่าอุปสงค์จากจีนยังอ่อนแอจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดด้านการควบคุมโรค แต่ก็เชื่อว่า ผลสุทธิแล้วความต้องการน้ำมันโดยรวมยังคงเป็นบวก ประกอบกับภาวะอุปทาน ณ ปัจจุบันที่ไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาก โดยหากพิจารณาจากกำลังการผลิตสำรอง (Spare Capacity) ของกลุ่ม OPEC+ จะเห็นได้ว่า อยู่ในจุดที่จำกัดมากแล้ว

 

ล่าสุดก็ส่งผลให้ทางด้านกลุ่ม OPEC+ ได้มีมติในการปรับลดกำลังการผลิตของน้ำมันดิบในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 มากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนตุลาคมที่มีมติลดกำลังผลิตเพียง 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น จึงยังประเมินว่าราคาน้ำมันดิบยังสามารถทรงตัวได้

 

จากแนวโน้มของราคาน้ำมันดิบที่คาดว่ายังทรงตัวสูงได้จนถึงช่วง 1Q65 อาจจะส่งผลบวกต่อการเก็งกำไรในกลุ่มพลังงานต้นน้ำมากขึ้น

  • กลุ่มโรงกลั่นที่แม้จะถูกกดดันในช่วงสั้นๆ จากผลประกอบการที่อ่อนแอในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จากค่าการกลั่นที่ชะลอตัวลง ผนวกกับการบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (stock loss) แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรจะกลับมาฟื้นตัวในช่วง 4Q65-1Q66

 

  • หุ้นกลุ่มปิโตรเคมี ยังคงต้องจับตาความต้องการในการใช้ปิโตรเคมี โดยกว่า 40% ของอุปสงค์โลกมาจากประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีการชะลอตัวลงเรื่อยๆ ทำให้ส่วนต่างของปิโตรเคมี (Petrochemical spread) ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ (หลายบริษัทยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุน)

 

ซึ่งเรายังต้องรอความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงจับตาท่าทีการดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาลจีน ที่จะเป็นจุดสำคัญที่บ่งชี้ว่า จีนกำลังจะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อไหร่ โดยถ้าเห็นสัญญาณดังกล่าว ถือเป็นจังหวะที่ดีในการกลับเข้าไปสะสมหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีอีกครั้ง

 

‘ราคาน้ำมัน’ กับ การลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญ อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้ถูกกดดันมากนัก เช่น 

 

  • กลุ่มขนส่ง เนื่องจากภาวะการท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังกลับมาฟื้นตัวอย่างโดดเด่น และหนุนยอดการจองตั๋วเครื่องบินอยู่ในระดับสูงและราคาตั๋วก็มีการปรับขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์เช่นกัน ดังนั้น จะสามารถชดเชยกับต้นทุนพลังงานที่ปรับขึ้นได้ หรือแม้แต่ในส่วนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ที่เริ่มเห็นสัญญาณของความต้องการสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่ยังดำเนินต่อไป ก็จะช่วยให้รายได้ของกลุ่มโลจิสติกส์กลับมาอยู่ในเกณฑ์ดี

 

  • กลุ่มวัสดุก่อสร้าง  ก็มีการใช้ต้นทุนพลังงานในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน แต่เราก็เชื่อว่า ความต้องการสินค้าทั้งจากการซ่อมแซมบ้านในช่วง 4Q65-1Q65 จะทำให้อัตราการทำกำไรของกลุ่มนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และยอดขายยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ทำให้จังหวะย่อตัวมองเป็นโอกาสในการทยอยสะสม

 

จะเห็นได้ว่าในภาพรวมของตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มที่ดี และยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2566 จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2566-2567 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 20 ล้านคน และ 40 ล้านคนตามลำดับ

 

จากเศรษฐกิจประเทศไทยที่มีความพึ่งพิงกับการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลบวกกับตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มขนส่งเป็นต้น