แบงก์ชาติหวั่นกลุ่มเปราะบาง ดันหนี้เสียแบงก์พุ่ง

25 พ.ค. 2567 | 07:18 น.

ธปท.เผย สินเชื่อแบงก์ไตรมาสแรกปี 67 กลับมาขยายตัว 0.7% หลังหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 66 ลั่นเห็นเม็ดเงินใหม่ในกลุ่มเอสเอ็มอี แม้ภาพรวมเอสเอ็มอีิติดลบ 5.1% เหตุชำระคืนสูง ห่วงกลุ่มเปราะบาง หลัง NPLs-Stage 2 เพิ่มขึ้น

คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPLs) หรือ Stage3 ทั้งสิ้น 505,818 ล้านบาท คิดเป็น 2.76%ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2.64% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 66 และเพิ่มขึ้น 1.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 497,952 ล้านบาทคิดเป็น 2.67% ต่อสินเชื่อรวม ส่วนหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM/Stage2)จำนวน 1,112,454  ล้านบาทคิดเป็น 6.11% ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 2.84% จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 5.88% ต่อสินเชื่อรวม

ยอดคงค้างหนี้ด้อยคุณภาพแบงก์

สาเหตุการเพิ่มขึ้นของ Gross NPLs ทั้งระบบรวม 112,990 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 67 เพิ่มขึ้น 14,214 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 14.39% จากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 98,776 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 29,071 ล้านบาทหรือ 34.64% จาก 83,919 ล้านบาท เมื่อไตรมาส1 ปีที่ผ่านมา

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่ฐานะการเงินเปราะบางที่อาจจะส่งผลกระทบจากตอนนี้ที่เห็นเอ็นพีแอลทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ยืนยันว่า NPL จะไม่ก้าวกระโดด โดยทั้ง NPL และ Stage 2 (SM) ปรับเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการจัดชั้นคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสินเชื่อต่างประเทศของบางธนาคาร รวมถึงสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นทั้ง NPL และ Stage2”นางสาวสุวรรณีกล่าว

ต่อข้อถามถึงการผ่อนเกณฑ์เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่องนั้นนางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องหารือกัน ไม่ว่าเรื่องการค้ำประกัน หรือเครดิตการันตี และการนำข้อมูลอื่นๆ มาเพิ่มเติมการพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อ และโอกาสเปิดให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มการแข่งขัน ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีแม้จะกลับมาติดลบ แต่จะติดลบน้อยลงและเห็นเม็ดเงินใหม่

ด้านนางอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ภาพรวมเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.02 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.74% ต่อสินเชื่อรวม โดยคุณภาพหนี้ด้อยลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและเอสเอ็มอี และสินเชื่ออุปโภคบริโภคเอง คุณภาพหนี้ก็ด้อยลงเกือบทุกพอร์ต ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ แต่ฐานของสินเชื่อปรับลดลงมาก 2.5 หมื่นล้านบาท

นางอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธปท.

เช่นเดียวกับสินเชื่อบัตรเครดิต เอ็นพีแอล 4.13% หลักๆ มาจากฐานสินเชื่อลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท (เอ็นพีแอลบัตรเครดิตน่าจะอยู่ที่ 3.75%) ในกลุ่มคนเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาขณะที่เอ็นพีแอลของสินเชื่อบ้านสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอลที่เคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ไม่สามารถปฎิบัติตามเงื่อนไข รวมถึงกลุ่มรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทและผลจากการปรับเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ

สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (stage 2) หรือ SMอยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.13% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.4 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่ถูกจัดชั้นเชิงคุณภาพทั้งเซ็กเตอร์ พาณิชย์ อุตสาหกรรม (ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์) และมาจากสินเชื่อบ้าน

ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสแรกปี 2567  กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 0.7% หลังจากติดลบตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2566 มาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 3.3% (ทั้งธุรกิจอาหาร เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม) ประกอบกับภาครัฐชำระคืนหนี้ลดลง 0.4% แต่สินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบ 5.1% แต่ยังเห็นเม็ดเงินใหม่ให้สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม พาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์ แต่เนื่องจากในกลุ่มเอสเอ็มอีมีการชำระคืนมากกว่าด้วย

สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวในทุกพอร์ตสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์หดตัว 3% เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและห่วงเรื่องคุณภาพหนี้ อีกทั้งในกลุ่มนี้มีความต้องการเพิ่มไม่มาก โดยมีการชะลอการซื้อรถซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลยอดขายรถยนต์ไตรมาส 1 ที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและจากปีก่อน

ขณะที่สินเชื่อบ้านชะลอลง มาจาก 2 ปัจจัยคือ ความระมัดระวังของสถาบันการเงิน และดีมานด์ของผู้ซื้อบ้านอาจชะลอ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ และบ้านแนวราบที่ราคาน้อยกว่า 5 ล้านบาท สินเชื่อบัตรเครดิตชะลอลงซึ่งเป็นการลดตามปัจจัยฤดูกาล เนื่องจากมีการใช้จ่ายค่อนข้างมากแล้วจากไตรมาส 4 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอลงแต่ยังสอดคล้องความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือน

ส่วนตราสารหนี้ขยายตัว 2.2% ชะลอลงจาก 6.2% ในไตรมาสก่อน โดยมาจาก 3 สาเหตุคือ ภาคธุรกิจระดมออกหุ้นกู้ไปก่อนหน้าปี 2565-2566 เพื่อล็อคต้นทุนดอกเบี้ยขาขึ้น, ธุรกิจขนาดใหญ่บางกลุ่มกลับมาใช้สินเชื่อมากขึ้นและนักลงทุนระมัดระวังการลงทุน จากความเสี่ยงด้านเครดิตบางส่วนขยับเพิ่ม ทั้งนี้ ตราสารหนี้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเห็นได้จากภาคบริการ ด้านสาธารณูปโภค โดยเป็นการออกตราสารหนี้ เพื่อชำระคืนหนี้และสินเชื่อหรือบางส่วนเพื่อการลงทุนในธุรกิจ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,994 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567