หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลพุ่ง 63% แตะ 3.5 หมื่นล้าน

30 มี.ค. 2567 | 04:38 น.

ธุรกิจจำนำทะเบียนเข้มปล่อยกู้ หลังหนี้เสียเดือนธ.ค.66 เพิ่ม 62.48% ทั้งที่มีและไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ค่ายศรีสวัสดิ์ โฟกัสกลุ่มรายได้สูง ตั้งเป้าโต 15% ด้านนายกสมาคม VTLA เผยตลาดจำนำทะเบียนหั่นราคาชิงลูกค้าดี

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับล่าสุด เดือนมกราคม 2567 พบว่า มียอดคงค้างรวม 8.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 7.51 แสนล้านบาท แบ่งเป็นยอดคงค้างที่ไม่ที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 5.07 แสนล้านบาทเติบโต 1.62% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาจากธนาคารพาณิชย์ 1.84 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 3.23 แสนล้านบาทมาจากนอนแบงก์คิดเป็น 63.75%

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจำนวน  3.41 แสนล้านบาทเติบโต 34.95% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาจากธนาคารพาณิชย์ 4.49 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น  13.16% มาจากนอนแบงก์ 296,126 ล้านบาทคิดเป็น 86.84%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาคุณภาพหนี้จากหนี้ที่ค้างชำระ 3 เดือนขึ้นไป (เอ็นพีแอล) พบว่า เดือนธันวาคม 2565 มียอดคงค้างเอ็นพีแอล 3.55 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 62.48% จากยอดคงค้างสินเชื่อรวม 8.47 แสนล้านบาท โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของธนาคารพาณิชย์ มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นถึง 89.25%  ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในส่วนของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) พบว่า เอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกันเพิ่มขึ้นถึง 102.93%

หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลพุ่ง 63% แตะ 3.5 หมื่นล้าน

นายวิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด หรือ SCAP (เอสแคป) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ภาพรวมความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ยังมีสัญญาณที่ดี แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก ทำให้บริษัทกลัวเรื่องคุณภาพหนี้  จึงต้องระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นจึงตั้งเป้าการขยายตัวสินเชื่อไว้ที่ 15% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตไม่สูงมาก โดยจะโฟกัสไปที่การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีรายได้สูงตั้งแต่ 80,000-100,000 บาท เพราะกลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะเศรษฐกิจ

นายวิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด

 อย่างไรก็ตาม มีความต้องการสินเชื่อเข้ามาราว 20% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่สินเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช่พอร์ตหลักของบริษัท เพราะจากยอดคงค้างสินเชื่อรวม 34,000 ล้านบาทในปีก่อน เป็นสินเชื่อเช่าซื้อกว่า 32,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตได้ดีมาก

“เรื่องคุณภาพหนี้ (เอ็นพีแอล)นั้น เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอยู่แล้ว เพราะเป็นประเด็นที่รับรู้มาตั้งปีก่อนที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะสินเชื่อจักรยานยนต์ หลังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ปรับเพดานดอกเบี้ยลงมาเหลือ 23% ต่อปี”นายวิชิตกล่าว

ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว บริษัทเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นจากปี 2565 เพราะฉะนั้นบริษัทจะให้น้ำหนักด้านนโยบายเครดิต ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเซ่าซื้อและสินเชื่อรถจักรยานยนต์มาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้แน่ใจว่า คุณภาพสินเชื่อของบริษัทมีคุณภาพที่ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ค่อยอยู่ในภาวะที่ดีนัก แม้จะมีประชาชนต้องการใช้เงินจำนวนมาก แต่ในแง่การอำนวยสินเชื่อทางบริษัทต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก 

ที่สำคัญภายใต้นโยบายของธปท.เรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (RL) ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับนั้น บริษัทจะต้องปฎิบัติตามในแง่ของการพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ ซึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทที่เข้ามาจะผ่านการพิจารณา 20% โดยบริษัทปฎิเสธการอนุมัติสินเชื่อประมาณ 80% โดยเป็นอัตราที่บริษัทยังคงเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง

“SCAP เน้นให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลในลักษณะเทอมโลน เพราะมองว่า เทอมโลนเป็นสินเชื่อที่ควบคุมคูณภาพหนี้ได้ดีกว่าและลูกค้ามีกำหนดตายตัวว่า ต้องชำระเงินกู้ให้หมดภายในเวลาที่ชัดเจน ทั้งวงเงินต่อเดือนและต่อปี”

ขณะเดียวกัน ลูกค้าสามารถบริหารคุณภาพสินเชื่อได้ดีด้วย แต่สินเชื่อหมุนเวียนจะเป็น Never Ending Loan ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากขึ้นและส่วนตัวมองว่า ในแง่การแข่งขันการปล่อยสินเชื่อไม่หวือหวาไม่รุนแรงแล้ว เพราะทุกคนรัดเข็มขัดและพยายามควบคุมคุณภาพหนี้ให้ดี

 สำหรับสถานการณ์สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับปีนี้อัตราการเติบโตของลูกหนี้คงค้างอาจจะไม่เติบโตขึ้นมากนัก เพราะเชื่อว่า ทุกสถาบันการเงินค่อนข้างระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ทุกคนให้ความสำคัญและระมัดระวังเรื่องคุณภาพสินเชื่อ โดยรวมทั้งกลุ่มศรีสวัสดิ์พยายามที่จะปฎิบัติตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม โดยควมคุมเอ็นพีแอลไว้ไม่เกิน 4.00% 

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัดในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อจำนำทะเบียนสัญญาณ 3 เดือน ยังคงมีการแข่งขันอยู่ แต่อัตราเติบโตปีนี้เติบโตน้อยกว่าปีก่อนคาดว่า อยู่ที่ประมาณ 15-20% เฉพาะบริษัทในกลุ่มสมาชิกของสมาคม VTLA 15 บริษัท

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ

“ช่วงนี้ ทุกบริษัทระมัดระวังหนี้เสีย โดยเลือกกลุ่มลูกค้าหรือเลี่ยงกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำหลักหมื่นบาทต้นๆ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เท่ากันและแนวโน้มอัตราการปฎิเสธ (reject Rate) สินเชื่อมีโอกาสสูงขึ้น ในส่วนของบริษัทเทอร์โบเองชะลอในกลุ่มที่มีความเสี่ยง ทุกบริษัทแข่งขันในกลุ่มลูกค้าดีทั้งหมดและแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยด้วย”นายสุธัชกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพยายามหารือกับหน่วยงานกำกับสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่ปัจจุบันใช้หนี้นอกระบบอยู่ หากต้องการลดหนี้นอกระบบ ควรเปิดโอกาสให้ภาคการเงินในระบบเข้าไปอุดรูรั่ว เพียงแต่ตอนนี้ไม่สามารถอุดรูรั่ว เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะสูงเกินเพดานดอกเบี้ย ซึ่งไม่คุ้ม หากทำไปก็ขาดทุน โดยสิ่งที่เห็นคือ หนี้นอกระบบอาจจะคิดดอกเบี้ย 100-200% ขณะที่บริษัทที่ให้บริการในระบบอาจคิดดอกเบี้ยน้อยกว่า 5 เท่าประมาณ 30-40%

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 3,978 วันที่ 28 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2567