กูรูเตือน ลดดอกเบี้ยกระทบระยะยาว ต้องดูรอบด้าน

13 ม.ค. 2567 | 04:26 น.

กูรูเตือน ลดดอกเบี้ยต้องดูรอบด้าน ระบุเงินเฟ้อต่ำ จากนโยบายรัฐ หากธปท.ลดดอกเบี้ย ส่งผลกระทบเชิงลบระยะยาว ยอมรับแบงก์กำไรเพิ่มรับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น

กำไรธนาคารพาณิชย์ กลายเป็นประเด็นร้อนรับต้นปีมังกร เมื่อหลายฝ่ายมองว่า สาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 รวม 2.00% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จนทำให้ล่าสุดเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะเดือนธันวาคม ติดลบมากที่สุดในรอบ 34 เดือนอีกด้วย

คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดประชุมในวันที่ 10 มกราคม 2567 เพื่อชี้แจงเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพราะยังมีประเด็นมองต่างมุม หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีออกมาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติว่า ขึ้นดอกเบี้ยทั้งที่เงินเฟ้อติดลบ

แหล่งข่าวในวงการตลาดเงินระบุว่า ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง เป็นผลจากนโยบายชั่วคราวของภาครัฐที่ลดราคาสินค้า ประคองค่าครองชีพ ด้วยการควบคุมราคาพลังงาน ไฟฟ้า  ส่วนราคาสินค้าอื่นๆ หากราคาแพงขึ้น แนวโน้มภาครัฐก็เข้าควบคุมอยู่ดี เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก

“หากรัฐบาลใช้นโยบายรัฐทั้งหมด เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อให้เหลือศูนย์ ควบคุมราคาทั้งหมด ซึ่งหากธปท.ปรับลดดอกเบี้ยลง ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบหรือ Down side มาก เพราะถ้าธปท.ลดดอกเบี้ยนำธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า ต้นทุนนำเข้าแพง เงินเฟ้ออาจจะสูงขึ้นกลับมาได้ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์จะปรับขึ้น แต่ไม่มีใครซื้อบอนด์ไทย ด้วยความกังวลเงินที่จะนำมาคืนอย่างไร”แหล่งข่าวระบุ

กูรูเตือน ลดดอกเบี้ยกระทบระยะยาว ต้องดูรอบด้าน

หรือหากมองในมุมการเมือง หากรัฐบาลใช้นโยบายรัฐทั้งหมด เพื่อกดเงินเฟ้อเหลือศูนย์ ควบคุมราคาทั้งหมด ถ้าทำแบบนี้ จะยิ่งทำให้งบประมาณขาดดุลลึกขึ้นอีก เพราะเป็นการใช้จ่ายแทนประชาชน ไม่สามารถเก็บภาษีไม่ได้และจะเป็นภาระระยะยาว

แหล่งข่าวย้ำว่า ดอกเบี้ยไทยไม่ได้สูงมาก ธปท.อุตส่าห์ประคองขึ้นมาได้ขนาดนี้แล้ว ควรจะยืนไปสักพักก่อน แต่เมื่อมีสัญญาณจากการเมืองแบบนี้ กลายเป็นธปท.ลดดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะหากลดดอกเบี้ยอาจจะดูว่า ทำตามใบสั่ง ยิ่งทำให้ธปท.ทำงานยากขึ้น และการลดดอกเบี้ยลง จะเป็นภาระระยะยาวมากกว่า

ส่วนแบงก์กำไรสูงจากดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น หากพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบด้าน จะพบว่า ธนาคารพาณิชย์มีกำไรเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยปรับขึ้นแค่ประมาณไม่ถึง 1% ขณะที่โอกาสในการทำรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังขึ้นอยู่กับการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งภาพรวมสินเชื่อไม่เติบโตในปีที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารก็มีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มเช่นกัน

หากพิจารณาจาก 3 ส่วนคือ การเติบโตของสินเชื่อ การหาลูกค้ากู้เพิ่มและต้นทุนเงินฝากที่แบงก์พยายามออกแคมเปญแย่งเงินฝาก เหล่านี้สะท้อนว่า แม้ดอกเบี้ยขาขึ้น ก็ไม่ง่ายที่จะทำกำไร เพราะแบงก์มีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายพอสมควรอีก แต่ด้วยฐานลูกค้าย่อมทำให้มีกำไร แต่โอกาสเจ๊งจากหนี้เสียก็รออยู่ จึงอยากให้ดูอย่างรอบด้าน

“ความสามารถทำกำไรของแบงก์ยุคนี้ ส่วนหนึ่งไม่ใช่เฉพาะดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า มาจากการบริหารจัดการของแบงก์ และกำไรจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นนั้นไม่ถึง 1% ของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ส่วนตัวสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกดดันแบงก์ชาติ เพราะไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ซึ่งเป็นปกติประเทศที่ยังไม่พัฒนา”

แหล่งข่าวอีกรายให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมีส่วนสนับสนุนกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นรายได้หลักๆ ของธนาคาร แต่ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการนั้นติดลบมาตั้งแต่ประเทศไทยให้บริการ “พร้อมเพย์” และรายได้จากส่วนอื่นๆ มีความไม่แน่นอนและผันผวนตามภาวะของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ต้องเปิดใจยอมรับว่า เมื่อดอกเบี้ยขยับขึ้น ธนาคารจะมีทั้งรายได้ดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้เป็นตัวดันการทำกำไรสุทธิของธนาคาร ซึ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อและเงินลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้

ส่วนรายจ่ายดอกเบี้ยคือ มาจากเงินฝากทุกประเภท รวมทั้งเงินฝากดิจิทัล , ตราสารหนี้ที่ธนาคารออกทั้งตราสารหนี้ธปท.และรัฐบาล รวมทั้งเอกชน, เงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)

ดังนั้นจะเห็นว่า สุทธิแล้วส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM ขยับขึ้นเพียง 0.32% เป็น 3.05% ในช่วง 9 เดือนปี 2566 ที่ผ่านมา เทียบจากทั้งปีก่อนอยู่ที่ 2.73% ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการส่วนใหญ่ติดลบ และรายได้อื่นๆ มีความไม่แน่นอนและผันผวน อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ยังมีภาระกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดย 9 เดือนปีนี้ภาระกันสำรองฯ ขยับขึ้น 8.8%

“หากมองฐานะของผลดำเนินงานให้รอบด้านก็ไม่ได้สวยขนาดนั้น แต่กำไรโตในกรอบชะลอและปีนี้ไม่ใช่ปีของการขึ้นดอกเบี้ยและคุณภาพสินทรัพย์รออยู่ ซึ่งลูกหนี้ภายใต้มาตาการช่วยเหลือยังมีอื้อ รวมยอดหนี้ 1.8 ล้านล้านบาทจากจำนวน 2.51 ล้านบัญชี หรือในแง่ของผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE ยังต่ำกว่าก่อนช่วงโควิด โดย R0E 9.6% สำหรับ 9 เดือนปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าช่วงโควิด 2562 อยู่ที่ 11.3% และทั้งปี 2565 อยู่ที่ 8.45%” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567